นำภาพไปตัดต่อว่าเป็นเกย์ในเว็บต่างประเทศ ฟ้องร้องดำเนินคดีที่ศาลไทยได้หรือไม่

นำภาพใบหน้าไปตัดต่อแสดงว่าเป็นเกย์ โพสลงเว็บไซต์ที่ต่างประเทศ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาหรือไม่ และสามารถดำเนินคดีตามกฎหมายไทยได้หรือไม่ ศาลไทยมีอำนาจพิจารณาคดีหรือไม่?

บทนำ

ในโลกปัจจุบันมีการใช้อินเตอร์เน็ตเป็นชีวิตประจำวัน การรับข่าวสาร โฆษณา การติดต่อสื่อสารล้วนแต่มีอินเตอร์เข้ามาเกี่ยวข้องทั้งสิ้น ประกอบกับเสรีภาพในการสื่อสารเป็นสิทธิเสรีที่ทุกคนบนโลกเรามีและเป็นสิทธิพื้นฐานตามธรรมชาติอย่างหนึ่งซึ่งรัฐต้องให้ความคุ้มครอง แต่อย่างไรก็ดี การใช้เสรีภาพในการสื่อสารนั้นจะต้องไม่กระทบต่อสิทธิของผู้อื่น ซึ่งหากฝ่าฝืนแล้วรัฐย่อมต้องกำหนดโทษตามกฎกติกาของสังคมเพื่อความสงบสุขในการใช้ชีวิตร่วมกัน ดังนั้น ประมวลกฎหมายอาญาจึงต้องบัญญัติความผิดฐานหมิ่นประมาทขึ้นเพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการลงโทษบุคคลผู้ฝ่าฝืน

บทวิเคราะห์ความผิดตามกฎหมาย

การจะเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญาได้นั้น ต้องเป็นการใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง (ป.อ. ม. 326) นอกจากนี้หากผู้กระทำได้หมิ่นประมาทโดยการโฆษณาด้วยเอกสาร ภาพวาด ภาพระบายสี ภาพยนตร์ ภาพหรือตัวหนังสือที่ทำให้ปรากฏไม่ว่าด้วยวิธีใดๆ แผ่นเสียง หรือสิ่งบันทึกเสียง บันทึกภาพหรือบันทึกตัวอักษร กระทำโดยการกระจายเสียง หรือการกระจายภาพ หรือโดยกระทำการป่าวประกาศด้วยวิธีอื่น ผู้นั้นมีความผิดฐานหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา (ป.อ. ม. 328)

เมื่อมีบุคคลนำภาพใบหน้าของผู้อื่นไปตัดต่อ ดัดแปลง เพื่อให้บุคคลที่สามที่พบเห็นเข้าใจว่าบุคคลในภาพนั้นเป็นเกย์ ย่อมเป็นการใส่ความต่อบุคคลที่สามโดยประการที่น่าจะทำให้บุคคลในภาพนั้นเสียชื่อเสียง อับอาย ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชังได้ และเมื่อผู้กระทำนำรูปภาพดังกล่าวโพสลงในเว็บไซต์ที่บุคคลใดๆก็สามารถเข้าถึงได้เป็นวงกว้าง การกระทำดังกล่าวจึงเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 328

ปัญหาที่ต้องพิจารณาต่อมาคือ เมื่อผู้กระทำความผิดนั้นได้โพสลงในเว็บไซต์ของตนที่ต่างประเทศแล้ว ผู้เสียหายที่อยู่ในประเทศไทยจะสามารถดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดโดยศาลไทยได้หรือไม่ กรณีนี้เป็นกรณีที่ผู้กระทำความผิดลงมือกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณาซึ่งเป็นความผิดที่มีโทษตามกฎหมายไทย และผู้กระทำความผิดได้กระทำในต่างประเทศ โดยผู้กระทำความผิดต้องการให้บุคคลที่อยู่ในภาพได้รับความเสียหายและอับอายโดยเฉพาะในชุมชนที่ผู้เสียหายอาศัยอยู่และผู้ที่รู้จักผู้เสียหาย จากการที่เข้าชมเว็บไซต์นั้น ถือได้ว่าผลแห่งการกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณานั้นเกิดขึ้นในประเทศไทยโดยตรง ดังนั้น จึงอาจถือได้ว่าผู้กระทำความผิดกระทำความผิดในประเทศไทย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 5 วรรคหนึ่ง ดังนี้ จึงอยู่ในเขตอำนาจของศาลไทยที่จะพิจารณาลงโทษผู้กระทำความผิดในราชอาณาจักรไทยได้ (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3313/2562)

บทสรุป

สรุป การนำภาพใบหน้าของผู้อื่นมาตัดต่อ ดัดแปลง ทำให้บุคคลอื่นเข้าใจว่าผู้ที่อยู่ในภาพนั้นเป็นเกย์โดยโพสลงในเว็บไซต์ เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา แม้จะโพสลงในเว็บไซต์ที่ต่างประเทศ แต่ผลของการหมิ่นประมาทนั้นเกิดขึ้นในราชอาณาจักรไทยด้วย จึงถือว่าเป็นการกระทำความผิดในราชอาณาจักรและศาลไทยมีอำนาจพิจารณาลงโทษได้

 

มีปัญหาคดีความปรึกษาทีมงานนคร สำนักงานกฎหมายปรัชญาเศรษฐ์ทนายความ

สำนักงานกฎหมายปรัชญาเศรษฐ์ ถนนร่มเกล้า ซอย10 แขวง เขตมีนบุรี กรุงเทพมหานคร
หมู่บ้านศุภาลัย พาร์ควิลล์3 ซอย4  (อยู่ระหว่างซอย10 และซอย 8)
บ้านเลขที่ 290/221 โทร 0899811406 ครับ

 

 

สำนักงานกฎหมายปรัชญาเศรษฐ์ทนายความ Copyright © 2021. All rights reserved.