เช็ครวมดอกเบี้ยเกินกำหนด แล้วเบิกความว่าในคดีอาญาให้ครบองค์ประกอบ ผิดฐานเบิกความเท็จหรือไม่

เช็ครวมดอกเบี้ยเกินกำหนด แล้วเบิกความว่าในคดีอาญาให้ครบองค์ประกอบ ผิดฐานเบิกความเท็จหรือไม่

คดีทั้งสามสำนวน ศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษารวมกัน โดยให้เรียกโจทก์สำนวนแรกว่า โจทก์ที่ 1 เรียกโจทก์สำนวนที่สองว่า โจทก์ที่ 2 เรียกโจทก์สำนวนที่สามว่า โจทก์ที่ 3 และเรียกจำเลยทั้งสามสำนวนว่า จำเลย

โจทก์ทั้งสามสำนวนฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 175, 177 และนับโทษจำเลยทั้งสามสำนวนติดต่อกัน

ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูลเฉพาะข้อหาเบิกความเท็จวันที่ 9 พฤษภาคม 2549 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 177 ให้ประทับฟ้อง ส่วนข้อหาอื่นให้ยก

จำเลยให้การปฏิเสธทั้งสามสำนวน

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องทั้งสามสำนวน

โจทก์ทั้งสามอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับเป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 177 วรรคแรก ให้จำคุก 1 ปี ยกคำขอที่ให้นับโทษต่อ

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติในเบื้องต้นว่า เดิมจำเลยสั่งจ่ายเช็คธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) สาขาเซียงกง มอบให้โจทก์ทั้งสามกับพวก รวม 7 ฉบับ ทุกฉบับลงวันที่ 18 ของเดือน ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2538 ถึงเดือนพฤษภาคม 2539 ตามลำดับ จำนวนเงินฉบับละ 1,000,000 บาท เมื่อถึงกำหนดจ่ายเงิน โจทก์ทั้งสามกับพวกนำเช็คดังกล่าวไปเรียกเก็บเงิน แต่ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินทุกฉบับ วันที่ 17 มิถุนายน 2539 โจทก์ที่ 1 ในฐานะส่วนตัวและในฐานะผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์ที่ 2 และที่ 3 กับพวก นำเช็คบางส่วนที่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน คือ เช็คฉบับวันที่ 18 มีนาคม 2539, วันที่ 18 เมษายน 2539 และวันที่ 18 พฤษภาคม 2539 รวม 3 ฉบับ ไปแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลพลับพลาไชย 2 ให้ดำเนินคดีแก่จำเลยในความผิดต่อพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 แต่พนักงานอัยการฟ้องจำเลยตามเช็คเพียงฉบับวันที่ 18 เมษายน 2539 และวันที่ 18 พฤษภาคม 2539 เป็นคดีอาญาหมายเลขดำที่ 800/2544 หมายเลขแดงที่ 3023/2545 ของศาลแขวงปทุมวัน ต่อมาศาลแขวงปทุมวัน ศาลอุทธรณ์และศาลฎีกามีคำพิพากษายกฟ้องยืนตามกัน หลังจากศาลแขวงปทุมวันมีคำพิพากษาแล้ว วันที่ 23 เมษายน 2546 จำเลยเป็นโจทก์ยื่นฟ้องโจทก์ทั้งสามกับพวกเป็นจำเลยต่อศาลอาญากรุงเทพใต้ ตามคดีอาญาหมายเลขดำที่ 3745/2546 ในข้อหาหรือฐานความผิดร่วมกันแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่พนักงานสอบสวน โดยรู้ว่ามิได้มีการกระทำความผิดเกิดขึ้น แต่แจ้งว่าได้มีการกระทำความผิดเพื่อจะแกล้งให้บุคคลอื่นต้องรับโทษหรือรับโทษหนักขึ้น ในระหว่างการพิจารณาของศาลอาญากรุงเทพใต้ วันที่ 9 พฤษภาคม 2549 จำเลยซึ่งเป็นโจทก์อ้างตนเองเบิกความเป็นพยานต่อศาลว่า ที่โจทก์ทั้งสามกับพวกแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลพลับพลาไชย 2 กล่าวหาว่าจำเลยกระทำความผิดต่อพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 โดยอ้างว่า วันที่ 18 มกราคม 2538 จำเลยกู้ยืมเงินโจทก์ทั้งสามกับพวกเป็นเงิน 12,000,000 บาท มีการทำหนังสือสัญญากู้ยืมเงินกันไว้ จำเลยชำระหนี้แล้วบางส่วน คงค้างชำระ 8,000,000 บาท จึงทำหนังสือรับสภาพหนี้และออกเช็คธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) สาขาเซียงกง จำนวน 7 ฉบับ ฉบับละ 1,000,000 บาท ผ่อนชำระหนี้ที่เหลือให้แก่โจทก์ทั้งสามกับพวกส่วนหนึ่งเป็นเช็คที่นำไปแจ้งความร้องทุกข์นั้น ไม่เป็นความจริง ความจริงเช็คดังกล่าวมิได้สั่งจ่ายเพื่อชำระหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินหรือหนังสือรับสภาพหนี้ แต่เป็นเช็คที่จำเลยนำไปแลกเงินสดกับโจทก์ทั้งสามกับพวก เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2538 โดยโจทก์ที่ 1 คิดดอกเบี้ยแลกเช็คในอัตราร้อยละ 2 ต่อเดือน และให้จำเลยลงชื่อในกระดาษเปล่า กับแบบพิมพ์ใบสำคัญจ่ายและหนังสือรับสภาพหนี้ที่ยังมิได้มีการกรอกข้อความ ศาลอาญากรุงเทพใต้พิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้อง ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน และคดีถึงที่สุดแล้ว

มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยในข้อแรกว่า ฟ้องของโจทก์ทั้งสามฐานเบิกความเท็จตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 177 เป็นฟ้องที่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) หรือไม่ เห็นว่า โจทก์ทั้งสามบรรยายฟ้องเป็นทำนองเดียวกันว่า จำเลยเบิกความเท็จต่อศาลในการพิจารณาคดีอาญาหมายเลขดำที่ 3745/2546 ของศาลอาญากรุงเทพใต้ ซึ่งจำเลยเป็นโจทก์ฟ้องโจทก์ทั้งสามกับพวกเป็นจำเลย ในข้อหาหรือฐานความผิดร่วมกันแจ้งข้อความอันเป็นเท็จต่อเจ้าพนักงาน โดยรู้ว่ามิได้มีการกระทำความผิดเกิดขึ้น แต่แจ้งว่ามีการกระทำความผิด เพื่อจะแกล้งให้บุคคลอื่นต้องรับโทษหรือรับโทษหนักขึ้นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 173, 174 โดยมีรายละเอียดข้อความที่จำเลยเบิกความ กับความจริงเป็นอย่างไร ประเด็นสำคัญของคดีเป็นข้อความที่โจทก์ทั้งสามกับพวกแจ้งความร้องทุกข์ดำเนินคดีแก่จำเลยในความผิดต่อพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 ว่า จำเลยสั่งจ่ายเช็คพิพาทให้แก่โจทก์ทั้งสามกับพวกเพื่อชำระหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินและหนังสือรับสภาพหนี้ แต่จำเลยเบิกความว่าเป็นการออกเช็คเพื่อแลกเงินสด ซึ่งคำเบิกความของจำเลยดังกล่าวเป็นข้อสำคัญในคดี ดังนี้ เป็นการแจ้งชัดแล้วว่า คดีที่จำเลยเบิกความอันเป็นเท็จนั้นมีข้อหาหรือฐานความผิดอะไร ประเด็นสำคัญของคดีว่าอย่างไร และคำเบิกความของจำเลยเป็นข้อสำคัญในคดีอย่างไร ถือว่าโจทก์ทั้งสามได้บรรยายถึงการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำผิดพอสมควรที่จะให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดี จึงเป็นฟ้องที่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) ฎีกาของจำเลยในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปมีว่า จำเลยกระทำความผิดตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์หรือไม่ เห็นว่า ความผิดต่อพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 ต้องเป็นการออกเช็คเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย ที่จำเลยเบิกความว่าจำเลยออกเช็คพิพาทเพื่อแลกเงินสด เป็นข้อเท็จจริงเกี่ยวกับองค์ประกอบความผิดว่าจำเลยออกเช็คเพื่อก่อหนี้ มิใช่การชำระหนี้ที่มีอยู่จริง ซึ่งข้อเท็จจริงนี้ศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดในคดีเดิมที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องจำเลยต่อศาลแขวงปทุมวันตามคดีอาญาหมายเลขดำที่ 800/2544 หมายเลขแดงที่ 3023/2545 ว่า จำเลยออกเช็คพิพาทชำระหนี้เงินกู้ให้แก่โจทก์ทั้งสามกับพวก แต่การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดเนื่องจากเป็นเช็คที่รวมดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดไว้ด้วย อันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พุทธศักราช 2475 มาตรา 3 (ก) เป็นโมฆะ ไม่อาจบังคับได้ตามกฎหมาย เท่ากับว่าองค์ประกอบความผิดเรื่องการออกเช็คเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงไม่ใช่ประเด็นข้อสำคัญในคดี การที่จำเลยเบิกความว่า โจทก์ทั้งสามกับพวกแจ้งความเท็จเพราะจำเลยออกเช็คพิพาทเพื่อแลกเงินสด มิใช่เป็นการชำระหนี้เงินกู้ แม้ข้อความนั้นจะเป็นเท็จก็ไม่ใช่ความเท็จในข้อสำคัญแห่งคดี จึงไม่เป็นความผิดฐานเบิกความอันเป็นเท็จตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 177 เมื่อวินิจฉัยดังนี้แล้ว ไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของจำเลยในข้ออื่นอีกต่อไป ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำเลยมานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยในข้อนี้ฟังขึ้น

พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ทั้งสาม

สรุป

โจทก์ทั้งสามบรรยายฟ้องเป็นทำนองเดียวกันว่า จำเลยเบิกความเท็จต่อศาลในการพิจารณาคดีอาญาหมายเลขดำที่ 3745/2546 ของศาลอาญากรุงเทพใต้ ซึ่งจำเลยเป็นโจทก์ฟ้องโจทก์ทั้งสามกับพวกเป็นจำเลย ในข้อหาหรือฐานความผิดร่วมกันแจ้งข้อความอันเป็นเท็จต่อเจ้าพนักงาน โดยรู้ว่ามิได้มีการกระทำความผิดเกิดขึ้น แต่แจ้งว่ามีการกระทำความผิด เพื่อจะแกล้งให้บุคคลอื่นต้องรับโทษหรือรับโทษหนักขึ้นตาม ป.อ. มาตรา 83, 173, 174 โดยมีรายละเอียดข้อความที่จำเลยเบิกความ กับความจริงเป็นอย่างไร ประเด็นสำคัญของคดีเป็นข้อความที่โจทก์ทั้งสามกับพวกแจ้งความร้องทุกข์ดำเนินคดีแก่จำเลยในความผิดต่อพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 ว่า จำเลยสั่งจ่ายเช็คพิพาทให้แก่โจทก์ทั้งสามกับพวกเพื่อชำระหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินและหนังสือรับสภาพหนี้ แต่จำเลยเบิกความว่าเป็นการออกเช็คเพื่อแลกเงินสด ซึ่งคำเบิกความของจำเลยดังกล่าวเป็นข้อสำคัญในคดี ดังนี้ เป็นการแจ้งชัดแล้วว่า คดีที่จำเลยเบิกความอันเป็นเท็จนั้นมีข้อหาหรือฐานความผิดอะไร ประเด็นสำคัญของคดีว่าอย่างไร และคำเบิกความของจำเลยเป็นข้อสำคัญในคดีอย่างไร ถือว่าโจทก์ทั้งสามได้บรรยายถึงการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำผิดพอสมควรที่จะให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดี จึงเป็นฟ้องที่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5)

ความผิดต่อพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 ต้องเป็นการออกเช็คเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย ที่จำเลยเบิกความว่าจำเลยออกเช็คพิพาทเพื่อแลกเงินสด เป็นข้อเท็จจริงเกี่ยวกับองค์ประกอบความผิดว่าจำเลยออกเช็คเพื่อก่อหนี้ มิใช่การชำระหนี้ที่มีอยู่จริง ซึ่งข้อเท็จจริงนี้ศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดในคดีเดิมที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องจำเลยต่อศาลแขวงปทุมวันตามคดีอาญาหมายเลขดำที่ 800/2544 หมายเลขแดงที่ 3023/2545 ว่า จำเลยออกเช็คพิพาทชำระหนี้เงินกู้ให้แก่โจทก์ทั้งสามกับพวก แต่การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดเนื่องจากเป็นเช็คที่รวมดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดไว้ด้วย อันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2475 มาตรา 3 (ก) เป็นโมฆะ ไม่อาจบังคับได้ตามกฎหมาย เท่ากับว่าองค์ประกอบความผิดเรื่องการออกเช็คเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงไม่ใช่ประเด็นข้อสำคัญในคดี การที่จำเลยเบิกความว่า โจทก์ทั้งสามกับพวกแจ้งความเท็จเพราะจำเลยออกเช็คพิพาทเพื่อแลกเงินสด มิใช่เป็นการชำระหนี้เงินกู้ แม้ข้อความนั้นจะเป็นเท็จก็ไม่ใช่ความเท็จในข้อสำคัญแห่งคดี จึงไม่เป็นความผิดฐานเบิกความอันเป็นเท็จตาม ป.อ. มาตรา 177

มีปัญหาคดีความปรึกษาทีมงานนคร สำนักงานกฎหมายปรัชญาเศรษฐ์ทนายความ
สำนักงานกฎหมายปรัชญาเศรษฐ์ ถนนร่มเกล้า ซอย10 แขวง เขตมีนบุรี กรุงเทพมหานคร
หมู่บ้านศุภาลัย พาร์ควิลล์3 ซอย4 (อยู่ระหว่างซอย10 และซอย 8)
บ้านเลขที่ 290/221 โทร 0899811406 ครับ
อ่านบทความเพิ่มเติมได้ที่ https://www.byslaw.com/
สำนักงานกฎหมายปรัชญาเศรษฐ์ทนายความ Copyright © 2021. All rights reserved.