กลับคำให้การรับสารภาพในชั้นฎีกาของคดีเช็คสามารถทำได้หรือไม่

กลับคำให้การรับสารภาพในชั้นฎีกาของคดีเช็คสามารถทำได้หรือไม่

โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91

จำเลยให้การปฏิเสธ

ระหว่างพิจารณา บริษัท อ. ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต ต่อมาโจทก์ร่วมขอถอนคำร้องทุกข์เฉพาะเช็คเลขที่ 09965285 และ 09965286 (ฟ้องข้อ 1.1 และ 1.2) ศาลชั้นต้นอนุญาต

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 จำคุกกระทงละ 12 วัน รวม 5 กระทง รวมจำคุกจำเลยมีกำหนด 60 วัน คำขออื่นให้ยก

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายกอุทธรณ์ของจำเลย

จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันในชั้นฎีการับฟังเป็นยุติได้ว่า เมื่อระหว่างวันที่ 25 ธันวาคม 2558 ถึงวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2559 เวลากลางวัน จำเลยออกเช็คพิพาท รวม 7 ฉบับ เพื่อชำระหนี้ค่าสินค้าให้แก่โจทก์ร่วม (ภายหลังโจทก์ร่วมถอนฟ้องไป 2 ฉบับ) เมื่อเช็คถึงกำหนดชำระโจทก์ร่วมนำไปเรียกเก็บเงิน แต่ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลย 60 วัน

มีปัญหาต้องวินิจฉัยเสียก่อนว่า การที่จำเลยยื่นคำร้องขอให้การรับสารภาพในชั้นฎีกากระทำได้หรือไม่ เห็นว่า การแก้ไขคำให้การจะต้องกระทำก่อนศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 163 วรรคสอง จำเลยจึงไม่อาจรับสารภาพในชั้นฎีกาได้ แต่อย่างไรก็ดี การที่จำเลยยื่นคำร้องดังกล่าวต่อศาลฎีกาโดยขอให้การรับสารภาพเช่นนี้ ถือได้ว่าจำเลยยอมรับข้อเท็จจริงโดยไม่ได้โต้แย้งข้อที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้อง

มีปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปว่า สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ระงับไปแล้วหรือไม่ เห็นว่า ได้ความตามข้อเท็จจริงในชั้นฎีกาว่าระหว่างฎีกาจำเลยได้ชำระเงิน 140,035 บาท แก่โจทก์ร่วมโดยการนำเงินมาวางศาล โจทก์ร่วมได้รับเงินจำนวนดังกล่าวไปจากศาลแล้ว ซึ่งจำเลยฎีกาว่าโจทก์ร่วมถอนคำร้องทุกข์ในส่วนของเช็คตามฟ้องไปแล้ว จำนวน 2 ฉบับ คงเหลือเช็คตามฟ้อง 5 ฉบับ จำนวนเงิน 140,035 บาท จำเลยได้ชำระเงินจำนวนดังกล่าวให้แก่โจทก์ร่วมครบถ้วน ขอให้ศาลพิพากษารอการลงโทษ โจทก์และโจทก์ร่วมได้รับสำเนาฎีกาแล้วไม่แก้ฎีกา ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่า จำเลยได้นำเงินมาวางศาลชั้นต้นและชำระหนี้ตามเช็คทั้ง 5 ฉบับ เป็นเงิน 140,035 บาท แก่โจทก์ร่วมจนครบถ้วนตามที่โจทก์ฟ้อง และโจทก์ร่วมได้รับเงินจำนวนดังกล่าวครบถ้วนแล้ว หนี้ที่จำเลยได้ออกเช็คทั้ง 5 ฉบับ เพื่อใช้เงินนั้นได้สิ้นผลผูกพันกันแล้วด้วยการชำระเงินครบถ้วนไปก่อนที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุด คดีจึงเลิกกันตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 7 สิทธินำคดีมาฟ้องตามเช็คทั้ง 5 ฉบับ ย่อมระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499 มาตรา 4 และพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแพ่งตลิ่งชัน ศาลแพ่งพระโขนง ศาลแพ่งมีนบุรี ศาลอาญาตลิ่งชัน ศาลอาญาพระโขนง และศาลอาญามีนบุรี พ.ศ. 2562 มาตรา 10

จึงให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ

สรุป

จำเลยยื่นคำร้องขอให้การรับสารภาพในชั้นฎีกา ถือเป็นการแก้ไขคำให้การ ต้องกระทำก่อนศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 163 วรรคสอง จำเลยจึงไม่อาจรับสารภาพในชั้นฎีกาได้ อย่างไรก็ดี การที่จำเลยยื่นคำร้องดังกล่าวถือได้ว่าจำเลยยอมรับข้อเท็จจริงโดยไม่ได้โต้แย้งข้อที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้องจำเลยฎีกาว่า โจทก์ร่วมถอนคำร้องทุกข์ในส่วนของเช็คตามฟ้องไปแล้ว จำนวน 2 ฉบับ คงเหลือเช็คตามฟ้อง 5 ฉบับ จำเลยได้ชำระเงินจำนวนดังกล่าวให้แก่โจทก์ร่วมครบถ้วน ขอให้ศาลพิพากษารอการลงโทษ โจทก์และโจทก์ร่วมได้รับสำเนาฎีกาแล้วไม่แก้ฎีกา ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่า จำเลยนำเงินมาวางศาลชำระหนี้ตามเช็คทั้ง 5 ฉบับ ครบถ้วนตามที่โจทก์ฟ้อง และโจทก์ร่วมได้รับเงินจำนวนดังกล่าวครบถ้วนแล้ว หนี้ที่จำเลยออกเช็คทั้ง 5 ฉบับ เพื่อใช้เงินนั้นได้สิ้นผลผูกพันกันแล้วด้วยการชำระเงินครบถ้วนไปก่อนที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุด คดีจึงเลิกกันตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 7 สิทธินำคดีมาฟ้องตามเช็คทั้ง 5 ฉบับ ย่อมระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499 มาตรา 4 และ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแพ่งตลิ่งชัน ศาลแพ่งพระโขนง ศาลแพ่งมีนบุรี ศาลอาญาตลิ่งชัน ศาลอาญาพระโขนงและศาลอาญามีนบุรี พ.ศ. 2562 มาตรา 10

สำนักงานกฎหมายปรัชญาเศรษฐ์ทนายความ Copyright © 2021. All rights reserved.