การวินิจฉัยพยานหลักฐานส่วนแพ่ง ต้องถือตามข้อเท็จจริงในคดีอาญาหรือไม่

การวินิจฉัยพยานหลักฐานส่วนแพ่ง ต้องถือตามข้อเท็จจริงในคดีอาญาหรือไม่

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 คืนเงิน 2,640,237.25 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 2,740,237.25 บาท นับแต่วันที่นางสาวธนภรยอมรับความผิดต่อโจทก์จนถึงวันฟ้องเป็นเงิน 119,314.50 บาท และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 2,740,237.25 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยที่ 2 คืนเงิน 1,407,659.50 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 1,507,659.50 บาท นับแต่วันที่นางสาวธนภรยอมรับความผิดต่อโจทก์จนถึงวันฟ้องเป็นเงิน 65,646.01 บาท และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 1,507,659.50 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยที่ 3 คืนเงิน 2,195,369 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 2,315,369 บาท นับแต่วันที่นางสาวธนภรยอมรับความผิดต่อโจทก์จนถึงวันฟ้องเป็นเงิน 100,815.03 บาท และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 2,315,369 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยที่ 4 คืนเงิน 1,124,093 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 1,224,093 บาท นับแต่วันที่นางสาวธนภรยอมรับความผิดต่อโจทก์จนถึงวันฟ้องเป็นเงิน 53,299.05 บาท และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 1,224,093 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยที่ 5 คืนเงิน 50,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 150,000 บาท นับแต่วันที่นางสาวธนภรยอมรับความผิดต่อโจทก์จนถึงวันฟ้องเป็นเงิน 6,531.25 บาท และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 150,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยทั้งห้าให้การขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 2 ชำระเงิน 247,119.50 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 28 ธันวาคม 2559 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และให้จำเลยที่ 3 ชำระเงิน 114,487 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 28 ธันวาคม 2559 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท ค่าขึ้นศาลให้คำนวณตามทุนทรัพย์เท่าที่โจทก์ชนะคดี ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 1 ที่ 4 และที่ 5 ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ที่ 4 และที่ 5 ให้ตกเป็นพับ

โจทก์ จำเลยที่ 2 และที่ 3 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ

โจทก์ฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้แย้งกันในชั้นนี้รับฟังเป็นยุติว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทมหาชนจำกัด มีวัตถุประสงค์ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับการประกันวินาศภัย ลูกค้าของโจทก์สามารถทำสัญญาประกันภัยอุบัติเหตุกับโจทก์ผ่านบัตรกดเงินสดอิเล็กทรอนิกส์ (บัตรเอทีเอ็ม) ประเภทบัตรเดบิต ธนาคาร ก. โดยมีระเบียบการจ่ายค่าสินไหมทดแทนว่าจะจ่ายให้เพียงครั้งเดียวต่ออุบัติเหตุ 1 ครั้ง ด้วยการโอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากธนาคาร ก. ของลูกค้าผู้เอาประกันภัย นางสาวธนภร เป็นพนักงานของโจทก์ ตำแหน่งเจ้าหน้าที่สินไหม มีหน้าที่ตรวจสอบเอกสารที่ผู้เอาประกันภัยทำเรื่องขอเบิกเงินค่าสินไหมทดแทน จำเลยที่ 1 เป็นมารดาโดยชอบด้วยกฎหมายของนางสาวธนภรและเป็นเจ้าของบัญชีเงินฝากธนาคาร ร. จำเลยที่ 2 เป็นสามีไม่จดทะเบียนสมรสของนางสาวธนภรและเป็นเจ้าของบัญชีเงินฝากธนาคาร ส. สาขาอ่อนนุช จำเลยที่ 3 เป็นน้องเขยของนางสาวธนกรและเป็นเจ้าของบัญชีเงินฝากธนาคาร อ. กับธนาคาร ท. จำเลยที่ 4 เป็นบุตรของน้าชายนางสาวธนภรและเป็นเจ้าของบัญชีเงินฝากธนาคาร ส. สาขาบิ๊กซี พระราม 2 ส่วนจำเลยที่ 5 เป็นหลานของนางสาวธนภรและเป็นเจ้าของบัญชีเงินฝากธนาคาร ส. สาขาเซ็นทรัล พระรามที่ 2 เมื่อระหว่างปี 2555 ถึงปี 2559 นางสาวธนภรปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตด้วยการนำเอกสารสำหรับใช้พิจารณาอนุมัติจ่ายค่าสินไหมทดแทนที่โจทก์อนุมัติจ่ายให้แก่ลูกค้าผู้เอาประกันภัยไปแล้วมาทำปลอมโดยแก้ไขข้อความในส่วนวันที่เกิดอุบัติเหตุอันเป็นเท็จแล้วจัดทำชุดเอกสารประกอบการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนฉบับที่ลูกค้าผู้เอาประกันภัยแนบท้ายเอกสารประกอบการพิจารณาค่าสินไหมทดแทนมาเวียนซ้ำ และเสนอให้โจทก์พิจารณาอนุมัติจ่ายค่าสินไหมทดแทนอีก โดยนางสาวธนภรกรอกเลขที่บัญชีเงินฝากธนาคารของจำเลยทั้งห้าดังกล่าวเพื่อให้โจทก์โอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากธนาคารนั้น ๆ โดยทุจริตเป็นเหตุให้โจทก์โอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากธนาคารของจำเลยที่ 1 รวม 179 ครั้ง เป็นเงิน 2,740,237.25 บาท บัญชีเงินฝากธนาคารของจำเลยที่ 2 รวม 112 ครั้ง เป็นเงิน 1,507,659.50 บาท บัญชีเงินฝากธนาคารของจำเลยที่ 3 แยกเป็นบัญชีแรกรวม 79 ครั้ง เป็นเงิน 1,023,687 บาท และบัญชีหลังรวม 101 ครั้ง เป็นเงิน 1,291,691 บาท บัญชีเงินฝากธนาคารของจำเลยที่ 4 รวม 98 ครั้ง เป็นเงิน 1,224,093 บาท และบัญชีเงินฝากธนาคารของจำเลยที่ 5 รวม 15 ครั้ง เป็นเงิน 150,000 บาท ต่อมาวันที่ 28 ธันวาคม 2559 นางสาวธนภรยอมรับผิดและชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์บางส่วนเป็นเงิน 620,000 บาท ซึ่งโจทก์นำมาคิดหักชำระหนี้เงินที่โอนเข้าบัญชีเงินฝากธนาคารของจำเลยทั้งห้า สำหรับจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 เป็นเงินคนละ 100,000 บาท และจำเลยที่ 3 เป็นเงิน 120,000 บาท และข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 กระทำละเมิดต่อโจทก์ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์เนื่องจากจำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่ฎีกา ส่วนคดีโจทก์ในส่วนของจำเลยที่ 4 ยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์เนื่องจากโจทก์ไม่ฎีกา

คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการแรกว่า จำเลยที่ 1 และที่ 5 กระทำละเมิดและต้องรับผิดต่อโจทก์ตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่า ข้ออ้างที่โจทก์อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาว่าจำเลยที่ 1 และที่ 5 กระทำละเมิดต่อโจทก์คือ จำเลยที่ 1 และที่ 5 รับโอนเงินจากนางสาวธนภรเข้าบัญชีเงินฝากธนาคารของจำเลยที่ 1 และที่ 5 ข้อเท็จจริงสำคัญที่ต้องพิจารณาให้ได้ความจึงอยู่ที่ว่าจำเลยที่ 1 และที่ 5 รู้หรือไม่ว่านางสาวธนภรได้เงินดังกล่าวมาโดยมิชอบ แต่โจทก์คงมีเพียงนางวิริยา ผู้อำนวยการฝ่ายสินไหมและเป็นผู้รับมอบอำนาจโจทก์เป็นพยานเบิกความตามข้อเท็จจริงที่รับฟังเป็นยุติข้างต้น และอาศัยความเกี่ยวพันฉันญาติระหว่างนางสาวธนภรกับจำเลยที่ 1 และที่ 5 และการเคลื่อนไหวทางบัญชีเงินฝากธนาคาร ที่มีการรับโอนเงินหลายครั้งและเมื่อรับโอนมาแล้วมีการเบิกถอนหรือโอนเงินดังกล่าวไปต่อเนื่องกันตลอดมาเป็นข้อบ่งชี้พฤติการณ์ความไม่สุจริตของจำเลยที่ 1 และที่ 5 เท่านั้น ส่วนจำเลยที่ 1 และที่ 5 อ้างตนเองเป็นพยานโดยมีนางสาวธนภรเป็นพยานเบิกความสนับสนุนว่า จำเลยที่ 1 และที่ 5 ไม่รู้ว่านางสาวธนภรกระทำทุจริตต่อโจทก์ จำเลยที่ 1 เปิดบัญชีเงินฝากธนาคารเพื่อรับโอนเงินจากหลานที่อยู่ต่างประเทศส่งมาให้เป็นค่าใช้จ่าย และจำเลยที่ 1 เจ็บป่วยด้วยโรคมะเร็ง ไม่สะดวกในการไปเบิกถอนเงิน จึงมอบสมุดบัญชีเงินฝากธนาคารและบัตรเอทีเอ็มให้นางสาวธนภรรับไปดำเนินการแทน โดยจำเลยที่ 1 ไม่รู้ว่านางสาวธนภรจะจัดการอย่างไรบ้าง และจำเลยที่ 5 ให้หมายเลขบัญชีเงินฝากธนาคารแก่นางสาวธนภรใช้โอนเงินเพราะนางสาวธนภรแจ้งว่าเป็นค่าขายประกันและค่าคอมมิชชัน ซึ่งนับว่ามีเหตุผลให้รับฟังได้ เพราะจำเลยที่ 1 และที่ 5 ทราบเพียงว่านางสาวธนภรทำงานเกี่ยวกับการประกันภัย โดยไม่ปรากฏว่าต่างทราบถึงตำแหน่งหน้าที่การงานตลอดจนสิทธิประโยชน์ที่แท้จริงที่นางสาวธนภรจะได้รับจากโจทก์ รวมทั้งระเบียบปฏิบัติของโจทก์ด้วยแต่อย่างใด การที่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นมารดานางสาวธนภรเจ็บป่วยและต้องให้นางสาวธนภรดูแลจัดการเกี่ยวกับสมุดบัญชีเงินฝากธนาคารและบัตรเอทีเอ็มจึงไม่ใช่เรื่องที่ผิดวิสัย และจำเลยที่ 5 เป็นหลานที่นางสาวธนภรส่งเสียเลี้ยงดูและให้การศึกษา ไม่น่าอยู่ในวิสัยที่จะก้าวล่วงไปสอบถามที่มาของเงินที่นางสาวธนภรโอนเข้าบัญชีเงินฝากธนาคารดังกล่าว อีกทั้งเมื่อนางสาวธนภรได้เงินดังกล่าวมาด้วยวิธีการอันไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งตามปกติแล้วย่อมจะต้องปกปิดเป็นความลับไม่ให้ผู้อื่นล่วงรู้ จึงไม่มีเหตุผลใดที่นางสาวธนภรจะบอกจำเลยที่ 1 และที่ 5 ให้รู้เกี่ยวกับการกระทำของนางสาวธนภร อันอาจทำให้เกิดความเดือดร้อนทั้งต่อนางสาวธนภรและจำเลยที่ 1 และที่ 5 ส่วนการที่จำเลยที่ 1 และที่ 5 ได้รับประโยชน์เป็นเงินจากนางสาวธนภรก็เป็นเรื่องปกติธรรมดาของหน้าที่การอุปการะเลี้ยงดูจำเลยที่ 1 กับการให้ความอนุเคราะห์ช่วยเหลือแก่จำเลยที่ 5 ลำพังเพียงข้อเท็จจริงที่ได้ความว่าจำเลยที่ 1 และที่ 5 กับนางสาวธนภรมีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน มีส่วนได้รับประโยชน์จากนางสาวธนภร กับมีการรับโอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากธนาคารระหว่างกันดังกล่าว จึงไม่อาจนำมารับฟังให้เป็นผลร้ายแก่จำเลยที่ 1 และที่ 5 ว่า จำเลยที่ 1 และที่ 5 รู้ดีว่านางสาวธนภรได้เงินมาโดยทุจริตอันจะเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ตามฟ้อง ส่วนที่โจทก์ฎีกาว่า ในการดำเนินคดีอาญาแก่จำเลยที่ 1 กับพวกข้อหาร่วมกันฉ้อโกง จำเลยที่ 1 ให้การปฏิเสธต่อพนักงานสอบสวนโดยไม่ได้ให้รายละเอียด และจำเลยที่ 1 เบิกความในคดีดังกล่าวว่า จำเลยที่ 1 ได้รับเงินเบี้ยยังชีพจากรัฐบาลและไปเบิกถอนเงินด้วยตนเองทุกเดือนนั้น ขัดกับข้ออ้างของจำเลยที่ 1 ที่ว่าจำเลยที่ 1 ป่วยด้วยโรคมะเร็ง ไม่สะดวกในการไปเบิกถอนเงิน จึงมอบสมุดบัญชีเงินฝากธนาคารและบัตรเอทีเอ็มให้นางสาวธนภรรับไปดำเนินการแทน เป็นข้อพิรุธนั้น โจทก์ไม่ได้นำสืบข้อเท็จจริงดังกล่าวอันจะนำมารับฟังเป็นข้อพิรุธของพยานหลักฐานดังที่ฎีกามา และที่โจทก์ฎีกาว่า ศาลแขวงดุสิตมีคำพิพากษาในคดีที่โจทก์ฟ้องนางสาวธนภรกับพวกในข้อหาร่วมกันฉ้อโกงอันเป็นมูลเหตุเดียวกับคดีนี้ว่า นางสาวธนภรและจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ในคดีนี้มีความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกง ตามสำเนาคำพิพากษาคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 528/2563 เอกสารท้ายฎีกา จึงต้องถือข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาคดีส่วนอาญาว่าจำเลยที่ 1 กระทำละเมิดต่อโจทก์นั้น เห็นว่า ในการพิพากษาคดีส่วนแพ่งที่ศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 46 นั้น ข้อเท็จจริงในคดีอาญาที่ศาลในคดีแพ่งจำต้องถือตามจะต้องเป็นข้อเท็จจริงที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาที่ถึงที่สุดแล้ว แต่ข้อเท็จจริงปรากฏตามคำแถลงของจำเลยที่ 3 ฉบับลงวันที่ 18 พฤศจิกายน 2564 ว่า ในคดีอาญาดังกล่าว โจทก์ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องจำเลยที่ 1 ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ และศาลอุทธรณ์มีคำสั่งอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องจำเลยที่ 1 ได้ สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 ย่อมระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (2) ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 ให้จำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 1 ออกจากสารบบความ ตามสำเนาคำสั่งศาลอุทธรณ์และสำเนาคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ท้ายคำแถลง เมื่อคดีอาญาในส่วนของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวได้จำหน่ายคดีไปโดยไม่ได้พิจารณาและมีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว ย่อมไม่มีข้อเท็จจริงอันถึงที่สุดในคดีอาญาที่ศาลในคดีนี้จำต้องถือตาม พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมามีน้ำหนักน้อยกว่าพยานหลักฐานของจำเลยที่ 1 และที่ 5 ข้อเท็จจริงรับฟังไม่ได้ว่า จำเลยที่ 1 และที่ 5 กระทำละเมิดต่อโจทก์ตามฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 และที่ 5 มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการต่อไปว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 ต้องรับผิดต่อโจทก์เพียงใด เห็นว่า โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 กระทำละเมิดต่อโจทก์ด้วยการรับโอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากธนาคารของจำเลยที่ 2 รวม 112 ครั้ง เป็นเงิน 1,507,659.50 บาท บัญชีเงินฝากธนาคารของจำเลยที่ 3 แยกเป็นบัญชีแรกรวม 79 ครั้ง เป็นเงิน 1,023,687 บาท และบัญชีหลังรวม 101 ครั้ง เป็นเงิน 1,291,691 บาท รวมเป็นเงินที่จำเลยที่ 3 รับโอนเข้าบัญชีเงินฝากของจำเลยที่ 3 ทั้งสิ้น 2,315,378 บาท ความเสียหายที่โจทก์ได้รับจากการกระทำละเมิดของจำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงได้แก่เงินที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 รับโอนเข้าบัญชีเงินฝากธนาคารของแต่ละคน ดังนั้น เมื่อจำเลยที่ 2 และที่ 3 กระทำละเมิดเนื่องจากมีส่วนรู้เห็นกับนางสาวธนภร จำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงต้องรับผิดด้วยการคืนเงินที่รับโอนทั้งหมดดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ การที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 โอนเงินคืนแก่นางสาวธนภรบางส่วนเป็นเรื่องระหว่างนางสาวธนภรกับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่เกี่ยวกับโจทก์ผู้ถูกกระทำละเมิดแต่อย่างใด ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 รับผิดต่อโจทก์เฉพาะเงินที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ยังยึดถืออยู่นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย อย่างไรก็ดี เมื่อโจทก์มีคำขอให้จำเลยที่ 3 ชำระเงินคืนเป็นเงิน 2,315,369 บาท และเมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2559 นางสาวธนภรยอมรับผิดและชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์บางส่วนเป็นเงิน 620,000 บาท โจทก์นำมาคิดหักชำระหนี้เงินที่โอนเข้าบัญชีเงินฝากธนาคารของจำเลยที่ 2 เป็นเงิน 100,000 บาท จำเลยที่ 3 เป็นเงิน 120,000 บาท และมีคำขอให้บังคับจำเลยที่ 2 คืนเงิน 1,407,659.50 บาท และจำเลยที่ 3 คืนเงิน 2,195,369 บาท พร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันที่นางสาวธนภรยอมรับผิดต่อโจทก์ จำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงต้องรับผิดชำระเงินจำนวนดังกล่าวแก่โจทก์ ซึ่งตามคำขอของโจทก์ดังกล่าวแสดงว่าโจทก์ถือเอาวันที่นางสาวธนภรยอมรับผิดต่อโจทก์เป็นวันที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ผิดนัดและเป็นฐานเวลาในการคิดดอกเบี้ยระหว่างผิดนัด ส่วนต้นเงินที่นำมาคิดดอกเบี้ยต้องเป็นไปตามต้นเงินที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ต้องรับผิดคืนให้โจทก์ มิใช่ต้นเงินเดิมก่อนที่จะนำเงินของนางสาวธนภรมาหักชำระหนี้ตามที่โจทก์มีคำขอ

อนึ่ง ระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา มีประกาศใช้พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ.2564 ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 โดยพระราชกำหนดดังกล่าวได้แก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 7 และมาตรา 224 วรรคหนึ่ง เป็นผลให้ดอกเบี้ยผิดนัดปรับเปลี่ยนจากอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี เป็นอัตราร้อยละ 5 ต่อปี หรืออัตราดอกเบี้ยใหม่ที่กระทรวงการคลังปรับเปลี่ยนโดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกา แต่ไม่กระทบกระเทือนถึงการคิดดอกเบี้ยผิดนัดในระหว่างช่วงเวลาก่อนที่พระราชกำหนดนี้ใช้บังคับ ปัญหาการกำหนดดอกเบี้ยตามกฎหมายเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองและกำหนดดอกเบี้ยให้เป็นไปตามพระราชกำหนดดังกล่าวได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5)

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 2 ชำระเงิน 1,407,659.50 บาท และจำเลยที่ 3 ชำระเงิน 2,195,369 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ต้องรับผิดดังกล่าวนับแต่วันที่ 28 ธันวาคม 2559 เป็นต้นไปถึงวันที่ 10 เมษายน 2564 และอัตราร้อยละ 5 ต่อปี ตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ทั้งนี้ อัตราดอกเบี้ยตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 ถ้ากระทรวงการคลังปรับเปลี่ยนอัตราโดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกา เมื่อใด ก็ให้ปรับเปลี่ยนไปตามนั้น แต่ต้องไม่เกินอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตามที่โจทก์ขอ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

สรุป

ในการพิพากษาคดีส่วนแพ่งที่ศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 46 นั้น ข้อเท็จจริงในคดีอาญาที่ศาลในคดีแพ่งจำต้องถือตามจะต้องเป็นข้อเท็จจริงที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาที่ถึงที่สุดแล้ว แต่ข้อเท็จจริงปรากฏตามคำแถลงของจำเลยที่ 3 ว่า ในคดีอาญาดังกล่าว โจทก์ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องจำเลยที่ 1 ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ และศาลอุทธรณ์มีคำสั่งอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องจำเลยที่ 1 ได้ สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 ย่อมระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (2) ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 ให้จำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 1 ออกจากสารบบความ ตามสำเนาคำสั่งศาลอุทธรณ์และสำเนาคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ท้ายคำแถลง เมื่อคดีอาญาในส่วนของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวได้จำหน่ายคดีไปโดยไม่ได้พิจารณาและมีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว ย่อมไม่มีข้อเท็จจริงอันถึงที่สุดในคดีอาญาที่ศาลในคดีนี้จำต้องถือตาม การวินิจฉัยพยานหลักฐานในคดีนี้ย่อมเป็นไปตามที่คู่ความนำสืบ

สำนักงานกฎหมายปรัชญาเศรษฐ์ทนายความ Copyright © 2021. All rights reserved.