การสมรสเป็นโมฆะหรือไม่ ศาลฎีกาวางหลักไว้อย่างไร

การสมรสเป็นโมฆะหรือไม่ ศาลฎีกาวางหลักไว้อย่างไร

ก่อนคดีนี้ จำเลยเคยฟ้องหย่าโจทก์ที่ศาลชั้นต้น และโจทก์ซึ่งเป็นจำเลยในคดีดังกล่าวให้การต่อสู้คดีและฟ้องแย้งโจทก์อ้างเหตุหย่าว่าเป็นความผิดของโจทก์ ต่อมาโจทก์ขอถอนฟ้องจึงสืบพยานจำเลยไป ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษายกฟ้องแย้งโดยวินิจฉัยว่า เหตุหย่าตามฟ้องแย้งของจำเลยยังรับฟังไม่ได้ คดีถึงที่สุดตามคดีหมายเลขแดงที่ 95/2555 ประเด็นในคดีดังกล่าวจึงมีอยู่ว่า มีเหตุหย่าตามคำฟ้องแย้งของจำเลยหรือไม่ ส่วนคดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยโดยอ้างเหตุต่าง ๆ ตามคำฟ้องของโจทก์ จำเลยให้การต่อสู้คดี อ้างว่าการสมรสทั้งสองครั้งระหว่างโจทก์และจำเลยเป็นโมฆะ เพราะขณะทำการสมรสกับโจทก์ จำเลยมีคู่สมรสโดยชอบด้วยกฎหมายอยู่แล้ว คดีนี้จึงมีประเด็นว่า การสมรสระหว่างโจทก์และจำเลยเป็นโมฆะหรือไม่ ประเด็นก่อนกับคดีนี้จึงต่างกันและแม้ในคดีก่อน ศาลจะรับฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์และจำเลยเป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมายก็ถือไม่ได้ว่าเป็นประเด็นที่ศาลได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งแล้วในคดีก่อน จึงไม่อาจนำผลของคำวินิจฉัยดังกล่าวในคดีก่อนมาผูกพันจำเลยในคดีนี้ได้

โจทก์ซึ่งมีเชื้อชาติลิทัวเนียสัญชาติไอร์ริช ฟ้องหย่าและขอแบ่งสินสมรสห้องชุดพิพาทจากจำเลยซึ่งมีเชื้อชาติและสัญชาติไอร์แลนด์ จำเลยให้การต่อสู้ว่า ขณะจดทะเบียนสมรสกับโจทก์ จำเลยมีคู่สมรสโดยชอบกฎหมายอยู่แล้ว เมื่อโจทก์และจำเลยมิใช่ผู้มีสัญชาติไทย ไม่มีภูมิลำเนาในประเทศไทย ทั้งการสมรสระหว่างโจทก์และจำเลยก็เป็นการสมรสตามกฎหมายต่างประเทศ กรณีจึงต้องพิจารณาตามบทบัญญัติตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พ.ศ.2481 ในปัญหาว่าสมรสระหว่างโจทก์และจำเลยเป็นการสมรสซ้อนหรือไม่ เมื่อปรากฏว่าจำเลยมีสัญชาติไอร์แลนด์ จดทะเบียนสมรสกับ ซ. ตามกฎหมายประเทศไอร์แลนด์ ดังนั้น กฎหมายที่จะนำมาใช้กับจำเลยในประเด็นการสิ้นสุดการสมรสโดยการหย่านี้จึงต้องเป็นไปตามกฎหมายแห่งสัญชาติของจำเลย ทั้งนี้ ตามมาตรา 27 วรรคหนึ่งแห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พ.ศ.2481 ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “ศาลไทยจะไม่พิพากษาให้หย่ากัน เว้นแต่กฎหมายสัญชาติแห่งสามี และภริยา ทั้งสองฝ่ายยอมให้หย่าได้” เมื่อขณะที่จำเลยและโจทก์สมรสกัน จำเลยมีคู่สมรสอยู่แล้วคือ ซ. และขณะทำการสมรส รัฐธรรมนูญของประเทศไอร์แลนด์ไม่อนุญาตให้พลเมืองที่ทำการสมรสหย่ากัน จำเลยจึงไม่อาจหย่าขาดจากคู่สมรสเดิมได้ คำพิพากษาศาลชั้นต้นแห่งประเทศสาธารณรัฐโดมินิกันที่มิใช่ศาลแห่งประเทศที่จำเลยมีสัญชาติที่พิจารณาให้จำเลยหย่าขาดจาก ซ. จึงไม่ทำให้จำเลยขาดจากการสมรสกับคู่สมรสเดิม

ในส่วนการสมรสระหว่างโจทก์และจำเลยที่มีการจดทะเบียนสมรสกันถึงสองครั้ง เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2536 ที่ประเทศสาธารณรัฐโดมินิกัน และวันที่ 24 ธันวาคม 2536 ที่รัฐเนวาดา ประเทศสหรัฐอเมริกา นั้น จะมีผลสมบูรณ์หรือไม่ ต้องพิจารณาตามเงื่อนไขแห่งการสมรส ซึ่งตามมาตรา 19 แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พ.ศ.2481 บัญญัติว่า “เงื่อนไขแห่งการสมรสให้เป็นไปตามกฎหมายสัญชาติของคู่กรณีแต่ละฝ่าย” ก่อนโจทก์ทำการสมรสกับจำเลย โจทก์มีสัญชาติลิทัวเนีย ส่วนจำเลยมีสัญชาติไอร์แลนด์ ดังนั้น เงื่อนไขแห่งการสมรสของโจทก์และจำเลยจึงต้องเป็นไปตามกฎหมายแห่งสัญชาติของโจทก์และจำเลยคือกฎหมายประเทศลิทัวเนีย และประเทศไอร์แลนด์ แต่ทั้งโจทก์และจำเลยต่างมิได้นำสืบข้อเท็จจริงในส่วนนี้ว่า กฎหมายของทั้งสองประเทศดังกล่าว มีบทบัญญัติเกี่ยวกับเงื่อนไขแห่งการสมรสไว้อย่างไรบ้าง เมื่อเป็นเช่นนี้กรณีจึงต้องเป็นไปตามมาตรา 8 แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พ.ศ.2481 ซึ่งบัญญัติว่า “ในกรณีที่จะต้องใช้กฎหมายต่างประเทศบังคับ ถ้ามิได้พิสูจน์กฎหมายนั้นให้เป็นที่พอใจแก่ศาล ให้ใช้กฎหมายในประเทศไทย” ซึ่งในเรื่องเงื่อนไขแห่งการสมรสนั้น ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1452 บัญญัติว่า “ชายหรือหญิงจะทำการสมรสในขณะที่ตนมีคู่สมรสอยู่ไม่ได้” และมาตรา 1497 บัญญัติว่า “การสมรสที่เป็นโมฆะ เพราะฝ่าฝืนมาตรา 1452 บุคคลผู้มีส่วนได้เสียคนใดคนหนึ่งจะกล่าวอ้างหรือจะร้องขอให้ศาลพิพากษาว่า การสมรสเป็นโมฆะก็ได้” เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าในขณะที่โจทก์และจำเลยทำการสมรสกันนั้น จำเลยยังมีคู่สมรส คือ ซ. การสมรสระหว่างโจทก์และจำเลยจึงเป็นโมฆะ ผลแห่งการสมรสที่เป็นโมฆะ ไม่ก่อให้เกิดความสัมพันธ์ทางทรัพย์สินระหว่างโจทก์และจำเลยดังที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 1498

การที่โจทก์รู้เห็นเกี่ยวกับการจ้างบุคคลในสาธารณรัฐโดมินิกันให้จัดทำเอกสารการหย่าระหว่างจำเลยกับคู่สมรส โจทก์จึงมิใช่คู่สมรสฝ่ายที่ได้สมรสโดยสุจริต จึงไม่อาจเรียกค่าทดแทน หรือค่าเลี้ยงชีพจากจำเลยได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1499 เมื่อการสมรสทั้งสองครั้งระหว่างโจทก์และจำเลยเป็นโมฆะ แม้ห้องชุดพิพาทโจทก์และจำเลยได้มาระหว่างอยู่ด้วยกันก็ตามก็มิใช่สินสมรส เมื่อโจทก์และจำเลยมีชื่อเป็นเจ้าของร่วมกัน โดยที่ทางนำสืบของจำเลยยังรับฟังไม่ได้ว่าเป็นทรัพย์สินที่จำเลยแต่เพียงผู้เดียวเป็นผู้ซื้อมา จึงต้องแบ่งให้โจทก์และจำเลยคนละครึ่ง ตามมาตรา 1498 วรรคสอง ในส่วนวิธีการแบ่งทรัพย์ให้เป็นไปตามคำพิพากษาในเรื่องกรรมสิทธิ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1364

สำนักงานกฎหมายปรัชญาเศรษฐ์ทนายความ Copyright © 2021. All rights reserved.