ข้อยกเว้นในคดีหมิ่นประมาทตามมาตรา329 ศาลฎีกาวางหลักไว้อย่างไร

ข้อยกเว้นในคดีหมิ่นประมาทตามมาตรา329 ศาลฎีกาวางหลักไว้อย่างไร

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326, 328, 332, 83, 84, 91 และพระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ.2484 มาตรา 4, 48

ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีไม่มีมูล พิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ ให้ประทับฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไว้พิจารณา นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลล่างทั้งสองโดยคู่ความไม่โต้แย้งว่า โจทก์เป็นอดีตข้าราชการตำรวจและนักธุรกิจ เมื่อปี 2538 โจทก์เข้าสู่การเป็นนักการเมืองโดยเป็นสมาชิกพรรคพลังธรรม โจทก์เคยดำรงตำแหน่งเป็นหัวหน้าพรรคพลังธรรมและหัวหน้าพรรคไทยรักไทย เคยได้รับการเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในระบบบัญชีรายชื่อของพรรคไทยรักไทยเมื่อปี 2544 และปี 2548 เคยดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ รองนายกรัฐมนตรีเคยดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเมื่อปี 2544 ปี 2548 และรักษาการนายกรัฐมนตรีตั้งแต่วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2549 ถึงวันที่ 19 กันยายน 2549 จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลตามกฎหมายพรรคการเมือง มีวัตถุประสงค์ดำเนินกิจการทางการเมืองและเป็นเจ้าของเว็บไซต์ www.democrat.or.th ขณะเกิดเหตุมีนายอภิสิทธิ์ เป็นหัวหน้าพรรค จำเลยที่ 2 เป็นสมาชิกของจำเลยที่ 1 เคยดำรงตำแหน่งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดนครศรีธรรมราช เมื่อปี 2548 ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 2 มีตำแหน่งเป็นโฆษกศูนย์อำนวยการเลือกตั้งของจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2548 มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งโจทก์เป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2549 ขณะโจทก์ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี มีประกาศพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2549 เพื่อให้มีการเลือกตั้งใหม่ที่กำหนดในวันที่ 2 เมษายน 2549 ในการเลือกตั้ง จำเลยที่ 1 พรรคชาติไทยและพรรคมหาชนไม่ส่งสมาชิกพรรคลงสมัครรับเลือกตั้ง ต่อมาเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2549 ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยที่ 9/2549 ว่าการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2549 เป็นการเลือกตั้งที่มิชอบเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2549 เวลากลางวัน จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นโฆษกศูนย์อำนวยการเลือกตั้งของจำเลยที่ 1 แถลงข่าวต่อผู้สื่อข่าว ณ ที่ทำการของจำเลยที่ 1 ด้วยข้อความว่า “วันนี้การเมืองอาจจะเปลี่ยนไปและการเลือกตั้งทอดเวลายาวนานออกไป นายกฯ จึงทำทุกวิถีทางเพื่อกลับมาสู่การเป็นนายกฯ อีกครั้งหนึ่ง มีการสร้างกระแสให้นายกฯ กลับมาบริหารประเทศโดยอ้างว่าเศรษฐกิจเสียหายไม่มีใครรับผิดชอบ ซึ่งถือเป็นสิทธิชอบธรรมที่สามารถทำได้แต่พรรคประชาธิปัตย์มีข้อสังเกตว่า มีการสร้างกระแสเป็นกระบวนการเพื่อให้เห็นว่า บ้านเมืองนี้ถ้าขาดนายกฯ ทักษิณจะเสียหาย แต่ที่จริงความเสียหายเกิดจากการบริหารงานของนายกฯ เพราะนายกฯ บริหารประเทศแบบซีอีโอ มีรัฐมนตรีเป็นเพียงผู้ช่วย เป็นง่อยทำงานไม่ได้ทำให้คณะรัฐมนตรีไม่มีประสิทธิภาพในการทำงาน จึงอยากเรียกร้องให้คณะรัฐมนตรีชุดนี้ลาออกทั้งคณะ” “สาเหตุที่พันตำรวจโททักษิณจะกลับเข้ามาอีกครั้งเพื่อ 1. เตรียมการเลือกตั้งเพราะการเลือกตั้งทุกครั้งที่ผ่านมามีการพูดถึงการโกงการเลือกตั้งโดยมีอำนาจรัฐเข้าไปแทรกแซง ครั้งนี้ก็เช่นกันต้องการที่จะเข้ามาใช้อำนาจรัฐช่วยเหลือพรรคพวกตนเอง 2. เข้ามาเพื่อเคลียร์ผลประโยชน์ที่ยังค้างอยู่ให้เสร็จสิ้นจึงต้องหาหนทางเข้าสู่ตำแหน่งอีกครั้ง 3. เข้ามาเพื่อทำลายหลักฐานการทุจริตเพราะกระแสสังคมกดดันให้นายกฯ เว้นวรรค นายกฯ อาจจะทราบชะตากรรมว่าถ้าหากตัวเองเว้นวรรค มีนายกฯ คนใหม่ขึ้นมาอาจจะมีการเช็คบิลก็ได้ จึงกลับเข้ามาสะสางปัญหาทั้งหมด 4. เข้ามาเพื่อสร้างขวัญกำลังใจให้กับลูกพรรคไม่ให้พรรคแตก” “สภาพของพันตำรวจโททักษิณในวันนี้เหมือนผีปอบที่ออกจากร่างแล้วกลับเข้าร่างไม่ได้ วันนี้จึงพยายามทุกวิถีทางเพื่อกลับเข้ามาสู่ร่างเดิม ดังนั้น เราต้องหาหมอผีมาสกัดกั้นผีปอบ โดยจับวิญญาณผีปอบใส่หม้อดินแล้วนำไปถ่วงน้ำอย่าให้มาผุดมาเกิดมาหลอกหลอนประเทศชาติต่อไปอีก” เจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 นำถ้อยคำดังกล่าวเผยแพร่ในเว็บไซต์ www.democrat.or.th ของจำเลยที่ 1 หนังสือพิมพ์มติชน ข่าวสดและเดลินิวส์ได้ลงพิมพ์ถ้อยคำนั้นในหนังสือพิมพ์ฉบับประจำวันที่ 18 พฤษภาคม 2549

มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 มีความผิดตามที่โจทก์ฟ้องหรือไม่ โจทก์ฎีกาว่า จำเลยที่ 2 มีเจตนาใส่ความโจทก์ให้เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชังโดยมิใช่เป็นการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริตอันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำดังศาลอุทธรณ์วินิจฉัย และจำเลยที่ 1 ร่วมรู้เห็นในการกระทำของจำเลยที่ 2 อย่างเป็นตัวการร่วมกระทำผิดนั้น เห็นว่า ข้อเท็จจริงได้ความว่า โจทก์เป็นนักการเมือง เคยดำรงตำแหน่งสำคัญเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และรองนายกรัฐมนตรี โจทก์เติบโตในเส้นทางการเมืองจนดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตั้งแต่ปี 2544 จนครบวาระ 4 ปี และดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อเนื่องกันอีกครั้งตั้งแต่วันที่ 9 มีนาคม 2548 หลังจากนั้นไม่นาน มีข้อเรียกร้องจากสังคมและมีกลุ่มบุคคลใช้ชื่อว่า กลุ่มพันธมิตร ดำเนินการเคลื่อนไหวกดดันโจทก์ทางการเมือง กล่าวหาโจทก์เกี่ยวกับกรณีมีส่วนเกี่ยวข้องกับการขายหุ้นกลุ่มบริษัทชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด ให้แก่บริษัทเทมาเส็ก โฮลดิ้ง (พีทีอี) จำกัด เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2549 ผ่านตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย มูลค่าการซื้อขายมากกว่า 70,000,000,000 บาท คิดเป็นร้อยละ 49 เศษ ของหุ้นทั้งหมด โดยไม่ต้องเสียภาษีอากร และกล่าวหาว่าเป็นการทำให้กิจการที่สำคัญต่อความมั่นคงของชาติตกไปอยู่ในการบริหารจัดการของคนต่างด้าวปรากฏความตามราชกิจจานุเบกษาฉบับวันที่ 20 มกราคม 2549 ว่า รัฐบาลที่โจทก์เป็นนายกรัฐมนตรี ออกพระราชบัญญัติการประกอบกิจการโทรคมนาคม ฉบับที่ 2 พ.ศ.2549 ประกาศใช้ในวันศุกร์ที่ 20 มกราคม 2549 มีสาระสำคัญเป็นการแก้ไขสัดส่วนถือหุ้นที่เป็นคุณสมบัติของผู้ขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมจากเดิมที่กำหนดให้ต้องมีผู้ถือหุ้นเป็นบุคคลผู้มีสัญชาติไทยไม่น้อยกว่าร้อยละเจ็ดสิบห้าของทุนทั้งหมดของนิติบุคคล รวมทั้งต้องมีกรรมการไม่น้อยกว่าสามในสี่ของจำนวนกรรมการทั้งหมดและผู้มีอำนาจกระทำการผูกพันนิติบุคคลนั้นต้องเป็นผู้มีสัญชาติไทยด้วย ที่บัญญัติในมาตรา 8 วรรคสาม (1) ตามพระราชบัญญัติการประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2544 เดิมเปลี่ยนเป็นตัดคุณสมบัติดังกล่าวออกทั้งหมด ทำให้การขายหุ้นกลุ่มบริษัทชินคอร์ปอเรชั่นจำกัด ให้แก่บริษัทเทมาเส็ก โฮลดิ้ง (พีทีอี) จำกัด กระทำได้ภายใต้บังคับกฎหมายที่แก้ไขใหม่ตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 3 – 5/2550 เมื่อโจทก์เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในสมัยที่ 2 โจทก์ให้ข้อมูลข่าวสารแก่สาธารณชนผ่านสื่อมวลชนเป็นระยะยืนยันว่าโจทก์จะไม่เลือกใช้วิธียุบสภาผู้แทนราษฎรเพื่อให้มีการเลือกตั้งใหม่ แต่เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2549 โจทก์ใช้อำนาจในฐานะนายกรัฐมนตรีดำเนินการให้มีประกาศพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2549 เพื่อให้มีการเลือกตั้งใหม่ที่กำหนดในวันที่ 2 เมษายน 2549 เสียงเรียกร้องจากสังคมและกลุ่มบุคคลต่อโจทก์จึงมีมากขึ้น เป็นทำนองกล่าวหาโจทก์ว่าการยุบสภาผู้แทนราษฎรเป็นไปเพื่อหลีกเลี่ยงการตรวจสอบโดยสภาผู้แทนราษฎรที่จะอภิปรายโจทก์กรณีขายหุ้นแก่ต่างชาติ การดำเนินการยุบสภาของโจทก์ทั้งที่โจทก์ประกาศต่อสาธารณชนยืนยันตลอดมาว่าจะไม่ยุบสภาผู้แทนราษฎร จึงเป็นเหตุการณ์ที่มีมูลทำให้สาธารณชนเข้าใจไปได้ว่า โจทก์ต้องการหลีกเลี่ยงการตรวจสอบโจทก์ผ่านสภาผู้แทนราษฎรโดยการทำหน้าที่ของสมาชิกสภาโดยเฉพาะอย่างยิ่งสมาชิกด้านฝ่ายค้าน ระหว่างระยะเวลาดำเนินการเพื่อให้มีการสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เสียงเรียกร้องให้มีการตรวจสอบโจทก์มีมากขึ้นและรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2549 จำเลยที่ 1 พรรคชาติไทยและพรรคมหาชนร่วมกันประกาศไม่ส่งสมาชิกพรรคลงสมัครรับเลือกตั้ง ในการเลือกตั้งวันที่ 2 เมษายน 2549 ตามสำเนาแถลงการณ์ร่วมและจดหมายเปิดผนึก พรรคไทยรักไทยออกสารไทยรักไทย ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์มติชนรายวันฉบับวันที่ 8 มีนาคม 2549 เนื้อหากล่าวตำหนิการให้สัตยาบันของพรรคร่วมฝ่ายค้านได้แก่ จำเลยที่ 1 พรรคชาติไทยและพรรคมหาชนที่ปฏิเสธการส่งสมาชิกลงสมัครรับเลือกตั้งกล่าวถึงพรรคจำเลยที่ 1 เคยส่งสมาชิกลงสมัครรับเลือกตั้งทุกครั้งในอดีตแม้ในยุคเผด็จการที่รัฐธรรมนูญไม่ได้มาจากประชาชนโดยไม่เคยคิดจะเป็นการสร้างความชอบธรรมให้ระบบเผด็จการทหาร บางครั้งจำเลยที่ 1 ก็ยอมร่วมรัฐบาลที่มีนายกรัฐมนตรีมาจากคนนอกยอมทำงานร่วมกับวุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้ง และกล่าวถึงพฤติการณ์ของจำเลยที่ 1 ที่กดดันให้โจทก์ลาออกซึ่งไม่ถูกต้อง หากเห็นว่าโจทก์กระทำผิดกฎหมาย ก็ชอบจะใช้วิธีการทางศาล กล่าวในทำนองว่าจำเลยที่ 1 ไม่เชื่อถือระบบศาล เหตุใดจำเลยที่ 1 จึงอยู่ในระบบเผด็จการทหารมาได้โดยไม่มีข้อสงสัย แต่กลับคัดค้านและไม่ยอมรับกติกาที่กำหนดโดยรัฐธรรมนูญที่มาจากประชาชน ทั้งกล่าวว่าจำเลยที่ 1 ได้รับเงินอุดหนุนพรรคการเมืองจากงบประมาณจำนวนมาก กลับไม่ส่งสมาชิกลงสมัครรับเลือกตั้งย่อมขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ เมื่อเลือกตั้งแล้วเสร็จ ผลการเลือกตั้งปรากฏว่า พรรคไทยรักไทยได้รับเลือกตั้งด้วยเสียงข้างมาก ระหว่างนั้นมีเสียงเรียกร้องจากสังคม มีการแสดงท่าทีทางการเมืองของผู้เป็นนักการเมืองทำนองเคลือบแคลงสงสัยในการจัดการเลือกตั้งและมีท่าทีไม่ไว้วางใจโจทก์ มีข้อระแวงเป็นการทั่วไปในสาธารณชนและนักการเมืองว่าโจทก์ไม่สุจริตในหลายด้าน ต่อมาเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2549 ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยที่ 9/2549 ว่า การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 2 เมษายน2549 เป็นการเลือกตั้งที่มิชอบ คณะกรรมการการเลือกตั้งจึงประกาศกำหนดให้มีการเลือกตั้งใหม่ในวันที่ 15 ตุลาคม 2549 เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2549 เวลากลางวันจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นโฆษกศูนย์อำนวยการเลือกตั้งของจำเลยที่ 1 จึงแถลงข่าวต่อผู้สื่อข่าว ณ ที่ทำการของจำเลยที่ 1 ด้วยข้อความตามคำฟ้อง ได้ความดังนี้ เห็นว่า ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 329 เป็นบทบัญญัติยกเว้นการกระทำที่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทเพื่อมิให้ผู้แสดงความคิดเห็นหรือข้อความโดยสุจริตต้องตกเป็นผู้กระทำผิด ทั้งนี้เพื่อให้การวิพากษ์วิจารณ์ผู้อื่นเป็นสิ่งที่กระทำได้ในขอบเขตที่กฎหมายบัญญัติ และเพื่อรักษาประโยชน์ของบุคคลหรือสาธารณะ ขอบเขตการวิพากษ์วิจารณ์จะกระทำได้มากน้อยเพียงใดนั้นนอกจากองค์ประกอบความผิดแล้ว ยังต้องพิเคราะห์ความเกี่ยวข้องของผู้กระทำ ผู้เสียหายสถานที่เกิดเหตุ ตลอดจนมูลเหตุและพฤติการณ์แวดล้อมอันเป็นที่มาแห่งการกระทำด้วยมิใช่พิจารณาเพียงแต่ความรู้สึกนึกคิดของผู้เสียหาย ผู้กระทำและบุคคลที่สามเพียงเท่านั้นไม่กรณีการแถลงข่าวกล่าวถ้อยคำและข้อความของจำเลยที่ 2 ณ ที่ทำการของจำเลยที่ 1 ตามฟ้องที่โจทก์กล่าวหาว่าเป็นการกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาทและไม่เข้าเกณฑ์ยกเว้นเป็นการแสดงความคิดเห็นหรือข้อความโดยสุจริตนั้น เนื้อหาของข้อความเริ่มด้วยการอ้างถึงการสร้างกระแสให้โจทก์กลับเข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเพื่อดูแลด้านเศรษฐกิจของประเทศไม่ให้เสียหาย ตามด้วยข้อวิจารณ์อ้างเป็นการกระทำในนามจำเลยที่ 1 ว่า แท้จริงความเสียหายเกิดแต่การบริหารงานผิดพลาดของโจทก์ มีข้อเรียกร้องให้คณะรัฐมนตรีของโจทก์ลาออกทั้งคณะ กล่าวอ้างสาเหตุที่โจทก์ต้องการมีอำนาจบริหารประเทศเพื่อผลประโยชน์และเพื่อกลบเกลื่อนหลักฐานการทุจริตที่ทำไว้ด้วย ต่อด้วยข้อเปรียบเทียบว่าโจทก์เหมือนผีปอบควรที่จะดำเนินการนำไปถ่วงน้ำอย่าให้มาผุดมาเกิดมาหลอกหลอนประเทศชาติต่อไปอีกดังนี้ ถ้อยคำและข้อความที่จำเลยที่ 2 แถลง เมื่อพิเคราะห์ถึงจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นนักการเมืองสังกัดจำเลยที่ 1 และก่อนมีการยุบสภาโดยโจทก์ จำเลยที่ 1 และที่ 2 กับพวกในพรรคของจำเลยที่ 1 ดำรงสถานะเป็นพรรคการเมืองฝ่ายค้าน มีหน้าที่ตรวจสอบและคานอำนาจการทำหน้าที่ของรัฐบาลที่โจทก์เป็นนายกรัฐมนตรี กับถ่วงดุลการทำหน้าที่ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในสังกัดพรรครัฐบาล โดยปรากฏเหตุการณ์และข้อมูลข่าวสารตลอดจนพฤติการณ์อันเป็นที่เคลือบแคลงไม่แจ้งชัดแห่งการทำหน้าที่ของโจทก์ตามข้อเท็จจริงที่ได้ความเป็นลำดับมาดังวินิจฉัยแล้ว ถ้อยคำและข้อความที่จำเลยที่ 2 กล่าว ประกอบกับฐานะของโจทก์ที่เป็นนักการเมืองซึ่งเป็นบุคคลสาธารณะ ทั้งเป็นผู้ทำหน้าที่ใช้อำนาจรัฐในระดับสูงในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี สามารถให้คุณให้โทษทั้งแก่บุคคล องค์กรไม่ว่าภาครัฐหรือเอกชนตลอดจนทำคุณประโยชน์หรือในทางตรงกันข้ามอาจก่อความเสียหายให้แก่ประเทศชาติได้อย่างกว้างขวาง เมื่อพิเคราะห์ถึงเหตุการณ์ก่อนจำเลยที่ 2 แถลงข่าวตามฟ้อง ย่อมเห็นได้ว่า ถ้อยแถลงและเนื้อหาของข้อความที่เป็นเนื้อหาสาระสำคัญล้วนเป็นการสื่อให้สาธารณชนทราบถึงความกังวลในการทำหน้าที่ที่ผ่านมาของโจทก์ในฐานะนายกรัฐมนตรีที่ไม่มีความชัดเจนในด้านความโปร่งใส่ในสายตาของสังคม และความไม่ต้องการให้โจทก์กลับเข้าทำหน้าที่ดังกล่าวอีกเพราะจะทำให้ประเทศชาติเสียหาย แม้กรณีเป็นการกล่าวหาโจมตีโจทก์ แต่สถานะของโจทก์ที่เป็นนักการเมืองผู้ดำรงตำแหน่งสูงสุดทางบริหารในฐานะนายกรัฐมนตรีและเป็นผู้นำประเทศ ย่อมเป็นที่คาดหวังของสังคมทุกระดับชั้นทั้งในและต่างประเทศว่าต้องเป็นผู้ทรงคุณธรรม มีพฤติกรรมที่โปร่งใส ตรวจสอบได้ในทุกด้านของการกระทำทั้งทางตรงและทางอ้อมไม่ว่าจะในมิติของกฎหมายหรือศีลธรรม ตลอดจนการดำรงตนในสังคมในทุกกรณีบุคคลสาธารณะในฐานะนักการเมืองเช่นโจทก์ ผู้มีส่วนได้เสียย่อมใช้สิทธิติชมได้โดยสุจริตและนักการเมืองเช่นโจทก์ย่อมต้องยอมรับการวิพากษ์วิจารณ์ได้อย่างกว้างขวาง ทั้งระดับการยอมรับของบุคคลในฐานะเช่นโจทก์ต่อการติชมเพื่อประโยชน์แก่ส่วนรวมนั้นย่อมต้องมีมากกว่าบุคคลธรรมดาทั่วไปที่มิใช่บุคคลสาธารณะ ได้ความดังนี้ ตามพฤติการณ์ก่อนเกิดเหตุดังวินิจฉัยเชื่อมโยงถึงขณะเกิดเหตุที่จำเลยที่ 2 กล่าวถ้อยคำในการแถลงข่าว ทั้งเป็นการแถลงต่อสื่อมวลชนโดยเปิดเผยอันแสดงถึงเจตจำนงที่ต้องการให้สาธารณชนรับรู้ จึงเข้าเกณฑ์ข้อยกเว้นว่าเป็นการกระทำไปโดยสุจริต เพื่อติชมด้วยความเป็นธรรมซึ่งบุคคลในฐานะนักการเมืองฝ่ายค้านเช่นจำเลยที่ 2 ในฐานะโฆษกศูนย์อำนวยการเลือกตั้งของจำเลยที่ 1 ชอบที่จะกระทำได้ในนามของจำเลยที่ 1 ในภาวะช่วงเวลาขณะนั้น การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงต้องด้วยบทบัญญัติมาตรา 329 (3) แห่งประมวลกฎหมายอาญา ส่วนถ้อยคำเปรียบเปรยหรือเสียดสีโจทก์เป็นผีปอบนั้น แม้เป็นการไม่สมควรกล่าวถึงโจทก์ แต่ก็เป็นถ้อยคำเสียดสีในสิ่งซึ่งเป็นไปไม่ได้ในความรู้สึกนึกคิดของคนทั่วไป ถ้อยคำส่วนนี้จึงไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท ดังนี้ จำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงไม่มีความผิดตามฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 1 และที่ 2 มานั้นชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น

พิพากษายืน

สรุป

ป.อ. มาตรา 329 เป็นบทบัญญัติยกเว้นการกระทำที่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท เพื่อมิให้ผู้แสดงความคิดเห็นหรือข้อความโดยสุจริตต้องตกเป็นผู้กระทำผิด ทั้งนี้เพื่อให้การวิพากษ์วิจารณ์ผู้อื่นเป็นสิ่งที่กระทำได้ในขอบเขตที่กฎหมายบัญญัติ และเพื่อรักษาประโยชน์ของบุคคลหรือสาธารณะ ขอบเขตการวิพากษ์วิจารณ์จะกระทำได้มากน้อยเพียงใดนั้น นอกจากองค์ประกอบความผิดแล้ว ยังต้องพิเคราะห์ความเกี่ยวข้องของผู้กระทำ ผู้เสียหาย สถานที่เกิดเหตุ ตลอดจนมูลเหตุ และพฤติการณ์แวดล้อมอันเป็นที่มาแห่งการกระทำด้วยแม้ถ้อยคำและข้อความที่จำเลยที่ 2 กล่าวโจมตีโจทก์ แต่สถานะของโจทก์ที่เป็นนักการเมืองผู้ดำรงตำแหน่งสูงสุดทางบริหารในฐานะนายกรัฐมนตรีและเป็นผู้นำประเทศ ย่อมเป็นที่คาดหวังของสังคมทุกระดับชั้นทั้งในและต่างประเทศว่าต้องเป็นผู้ทรงคุณธรรม มีพฤติกรรมที่โปร่งใส ตรวจสอบได้ในทุกด้านของการกระทำทั้งทางตรงและทางอ้อม ไม่ว่าจะในมิติของกฎหมายหรือศีลธรรม ตลอดจนการดำรงตนในสังคมในทุกกรณีบุคคลสาธารณะในฐานะนักการเมืองเช่นโจทก์ ผู้มีส่วนได้เสียย่อมใช้สิทธิติชมได้โดยสุจริต และต้องยอมรับการวิพากษ์วิจารณ์ได้อย่างกว้างขวาง ตามพฤติการณ์ก่อนเกิดเหตุดังวินิจฉัยเชื่อมโยงถึงขณะเกิดเหตุที่จำเลยที่ 2 กล่าวถ้อยคำในการแถลงข่าว ทั้งเป็นการแถลงต่อสื่อมวลชนโดยเปิดเผยอันแสดงถึงเจตจำนงที่ต้องการให้สาธารณชนรับรู้ จึงเข้าเกณฑ์ข้อยกเว้นว่าเป็นการกระทำไปโดยสุจริต เพื่อติชมด้วยความเป็นธรรมซึ่งบุคคลในฐานะนักการเมืองฝ่ายค้านเช่นจำเลยที่ 2 ในฐานะโฆษกศูนย์อำนวยการเลือกตั้งของจำเลยที่ 1 ชอบที่จะกระทำได้ในนามของจำเลยที่ 1 การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงต้องด้วยบทบัญญัติมาตรา 329 (3) แห่งประมวลกฎหมายอาญา ส่วนถ้อยคำเปรียบเปรยหรือเสียดสีโจทก์เป็นผีปอบนั้น แม้เป็นการไม่สมควรกล่าวถึงโจทก์ แต่ก็เป็นถ้อยคำเสียดสีในสิ่งซึ่งเป็นไปไม่ได้ในความรู้สึกนึกคิดของคนทั่วไป ถ้อยคำส่วนนี้จึงไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท

สำนักงานกฎหมายปรัชญาเศรษฐ์ทนายความ Copyright © 2021. All rights reserved.