คดีหมิ่นประมาท ศาลสามารถวินิจฉัยเรื่องสิทธินำคดีอาญามาฟ้องระงับได้หรือไม่

คดีหมิ่นประมาท ศาลสามารถวินิจฉัยเรื่องสิทธินำคดีอาญามาฟ้องระงับได้หรือไม่

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 136, 326, 328, 83, 91 พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 3, 14 (1)

จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ

ระหว่างพิจารณา ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต

โจทก์ร่วมยื่นคำร้องในคดีส่วนแพ่งขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นเงิน 500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่ วันทำละเมิดเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ร่วม

จำเลยทั้งสองให้การในคดีส่วนแพ่งขอให้ยกคำร้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 136, 326, 328 พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14 (1) ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานร่วมกันดูหมิ่นเจ้าพนักงานกับฐานร่วมกันนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานร่วมกันนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 รวม 2 กระทง จำคุกคนละ 1 ปี ฐานร่วมกันดูหมิ่นเจ้าพนักงานกับฐานร่วมกันหมิ่นประมาทโดยการโฆษณาเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 แต่ความผิดทั้งสองฐานมีอัตราโทษจำคุกเท่ากัน ให้ลงโทษฐานร่วมกันดูหมิ่นเจ้าพนักงาน จำคุกคนละ 4 เดือน รวมจำคุกจำเลยทั้งสองคนละ 1 ปี 4 เดือน กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ร่วมเป็นเงิน 500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันทำละเมิดจนกว่าจะชำระเสร็จ ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ

จำเลยทั้งสองอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ (ที่ถูก และยกคำร้องขอให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทน) ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ

โจทก์และโจทก์ร่วมฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยคำแก้ฎีกาของจำเลยทั้งสองว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองในความผิดฐานหมิ่นประมาทและฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณาหรือไม่ เห็นว่า ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 1439/2555 โจทก์ร่วมยื่นคำร้องขอถอนฟ้องจำเลยทั้งสองกับพวกอีก 2 คน โดยระบุเหตุผลว่า “…โจทก์จึงมีความประสงค์ขอถอนฟ้องจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ต่อศาลเพื่อจะยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการจังหวัดอุบลราชธานีเมื่อพนักงานอัยการจังหวัดอุบลราชธานีได้มีคำสั่งฟ้องจำเลยทั้งสี่ต่อศาลนี้…” ต่อมาวันที่ 25 มีนาคม 2558 เมื่อพนักงานอัยการยื่นฟ้องจำเลยทั้งสองกับพวกอีก 2 คน เป็นจำเลยในการกระทำกรรมเดียวกันกับคดีอาญาดังกล่าว ตามคดีอาญาหมายเลขดำที่ 581/2558 ของศาลชั้นต้น วันที่ 27 เมษายน 2558 โจทก์ร่วมก็ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ในคดีดังกล่าวซึ่งเป็นระยะเวลาภายหลังจากที่พนักงานอัยการยื่นฟ้องจำเลยทั้งสองกับพวกเพียง 1 เดือนเศษ แต่เนื่องจากในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 581/2558 พวกของจำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ ส่วนจำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2559 และมีคำสั่งให้โจทก์แยกฟ้องจำเลยทั้งสองเข้ามาใหม่ภายใน 7 วัน โจทก์จึงยื่นฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นคดีนี้เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2559 หลังจากนั้นอีกเพียง 3 วัน คือ เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2559 โจทก์ร่วมก็ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการ ดังนี้ แม้ขณะที่โจทก์ร่วมถอนฟ้องจำเลยทั้งสองกับพวกอีก 2 คน ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 1439/2555 ยังไม่ปรากฏแน่ชัดว่าพนักงานอัยการได้รับสำนวนการสอบสวนจากพนักงานสอบสวนแล้วหรือไม่ และไม่ทราบว่าพนักงานอัยการจะใช้ดุลพินิจสั่งฟ้องจำเลยทั้งสองกับพวกหรือไม่ก็ตาม ก็ไม่ใช่ข้อบ่งชี้ว่าโจทก์ร่วมมีเจตนาถอนฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นการเด็ดขาด เนื่องจากโจทก์ร่วมได้ระบุในคำร้องขอถอนฟ้องแล้วว่า โจทก์ร่วมประสงค์ขอถอนฟ้องจำเลยทั้งสองเพื่อที่จะยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการ ต่อมาเมื่อพนักงานอัยการยื่นฟ้องจำเลยทั้งสองกับพวกแล้ว ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้โจทก์แยกฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นคดีใหม่และโจทก์ยื่นฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นคดีนี้ โจทก์ร่วมก็ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการทั้งสองคดีต่อเนื่องกันตลอดมา พฤติการณ์จึงเป็นการแสดงให้เห็นอย่างแจ้งชัดว่าการที่โจทก์ร่วมถอนฟ้องดังกล่าวก็เพื่อจะเข้าร่วมเป็นโจทก์ในคดีที่พนักงานอัยการได้ยื่นฟ้องจำเลยทั้งสองในภายหลังนั่นเอง หาใช่เป็นการถอนฟ้องเด็ดขาดตามความหมายในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 36 ไม่ สิทธินำคดีอาญามาฟ้องทั้งของโจทก์และโจทก์ร่วมจึงไม่ระงับไปดังที่บัญญัติในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (2) โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองในความผิดฐานหมิ่นประมาทและหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา และโจทก์ร่วมย่อมมีสิทธิขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการได้ ประเด็นตามคำแก้ฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น

ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยประการต่อไปตามฎีกาของโจทก์และโจทก์ร่วมมีว่า จำเลยทั้งสองกระทำความผิดฐานร่วมกันดูหมิ่นเจ้าพนักงานและฐานร่วมกันหมิ่นประมาทโดยการโฆษณาตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นหรือไม่ เห็นว่า ในปัญหานี้โจทก์และโจทก์ร่วมนำสืบแต่เพียงว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้ส่งจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ เนื่องจากเอกสารทั้งสองฉบับระบุชื่อและที่อยู่ของผู้ส่งว่าคือ จำเลยที่ 1 ทั้งที่เอกสารดังกล่าวมีแถบสีดำปิดบังข้อมูลสำคัญอันเป็นพิรุธต่างจากจดหมายอิเล็กทรอนิกส์โดยทั่วไป และจำเลยที่ 1 ได้ปฏิเสธมาตั้งแต่ต้นว่าจำเลยที่ 1 มิได้เป็นผู้ส่งจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ทั้งสองฉบับดังกล่าว โดยเมื่อวันที่ 22 เมษายน 2557 จำเลยที่ 1 ยังเคยเบิกความต่อศาลชั้นต้นในคดีที่จำเลยที่ 1 ฟ้องโจทก์ร่วมเป็นจำเลยฐานหมิ่นประมาทว่า จำเลยที่ 1 มิได้เป็นผู้ส่งข้อความตามจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ทั้งสองฉบับ อีกทั้งพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 26 วรรคหนึ่ง ก็บัญญัติให้ผู้ให้บริการต้องเก็บรักษาข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ไว้ไม่น้อยกว่าเก้าสิบวันนับแต่วันที่ข้อมูลนั้นเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ เพื่อประโยชน์ในการตรวจสอบการส่งข้อมูลการสื่อสารทางคอมพิวเตอร์ แต่โจทก์และโจทก์ร่วมก็มิได้นำสืบให้ปรากฏถึงรายละเอียดข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ของจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ทั้งสองฉบับ เพื่อแสดงถึงแหล่งกำเนิด ต้นทาง ปลายทาง เส้นทาง เวลา หรืออื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการติดต่อสื่อสารของระบบคอมพิวเตอร์นั้น อันอาจแสดงให้เห็นถึงความเกี่ยวพันกับจำเลยที่ 1 นอกเหนือไปจากการที่เอกสารดังกล่าวปรากฏชื่อและที่อยู่จดหมายอิเล็กทรอนิกส์ของจำเลยที่ 1 ซึ่งสามารถปลอมแปลงหรือถูกลักลอบใช้โดยผู้อื่นได้ ลำพังการที่จำเลยที่ 1 มีข้อขัดแย้งกับโจทก์ร่วมมาก่อน หาอาจเป็นข้อสนับสนุนว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้ส่งจดหมายอิเล็กทรอนิกส์โดยแน่แท้ไม่ เนื่องจากได้ความตามทางนำสืบของโจทก์และโจทก์ร่วมเองว่า ในช่วงเวลาก่อนหน้านั้น โจทก์ร่วมได้สั่งให้มีการดำเนินการสอบสวนจนมีการลงโทษทางวินัยแก่บุคลากรของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีหลายรายถึงขั้นให้บุคคลเหล่านั้นพ้นจากราชการ รวมทั้งโจทก์ร่วมยังมีข้อขัดแย้งกับบุคลากรในมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีอีกหลายรายอันอาจเป็นเหตุสร้างความขุ่นเคืองให้บุคคลเหล่านั้น ซึ่งนอกจากจดหมายอิเล็กทรอนิกส์แล้ว ยังมีบุคคลซึ่งไม่ทราบว่าเป็นผู้ใดจัดทำใบปลิวมีข้อความโจมตีกล่าวหาโจทก์ร่วมนำไปปิดและวางเผยแพร่ตามสถานที่สาธารณะทั้งในและนอกมหาวิทยาลัย รวมทั้งมีการวางไว้ที่ถนนทางข้าม ตู้โทรศัพท์ โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ และส่งทางไปรษณีย์ไปยังหน่วยงานภายนอกต่าง ๆ เช่น สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา โดยโจทก์และโจทก์ร่วมไม่มีพยานหลักฐานใดมานำสืบสนับสนุนให้ฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดทำหรือเผยแพร่ใบปลิวดังกล่าวดังนี้ รูปคดีนับว่ายังมีเหตุสงสัยตามสมควรว่าจำเลยที่ 1 ส่งจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ไปยังบุคคลต่าง ๆ หรือไม่ จึงให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้จำเลยที่ 1 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 วรรคสอง เมื่อข้อเท็จจริงยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้ส่งจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ อันเป็นจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ที่มีข้อความตามที่โจทก์บรรยายในคำฟ้องข้อ 2.1 และ ข้อ 2.2 จำเลยที่ 1 จึงไม่มีความผิดฐานร่วมกันดูหมิ่นเจ้าพนักงานและฐานร่วมกันหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา ส่วนกรณีของจำเลยที่ 2 ซึ่งโจทก์บรรยายฟ้องว่าร่วมกับจำเลยที่ 1 ในการส่งจดหมายอิเล็กทรอนิกส์และร่วมกันเผยแพร่ใบปลิว นั้น ทางนำสืบของโจทก์และโจทก์ร่วมไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 มีส่วนร่วมหรือเกี่ยวข้องกับการส่งและเผยแพร่ใบปลิวและจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ทั้งสองฉบับ หรือเป็นผู้ส่งจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ที่มีข้อความเช่นเดียวกับจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ แต่อย่างใด ข้อเท็จจริงจึงฟังไม่ได้ว่า จำเลยที่ 2 กระทำความผิดฐานร่วมกันดูหมิ่นเจ้าพนักงานและฐานร่วมกันหมิ่นประมาทโดยการโฆษณาตามฟ้องโจทก์ ข้อ 2.1 และ 2.2 เช่นกัน

มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยประการต่อไปตามฎีกาของโจทก์ร่วมว่า จำเลยทั้งสองกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 หรือไม่ เห็นว่า พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2560 มีผลใช้บังคับนับแต่วันที่ 24 พฤษภาคม 2560 อันเป็นเวลาภายหลังจากที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาคดีนี้แล้ว ซึ่งความในมาตรา 8 ให้ยกเลิกความในมาตรา 14 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 และให้ใช้ความที่บัญญัติใหม่แทน โดยมาตรา 14 ที่บัญญัติใหม่ได้ยกเลิกความในมาตรา 14 (1) จากเดิมที่บัญญัติว่า “ (1) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน” และบัญญัติความใน (1) ใหม่เป็นว่า “ (1) โดยทุจริต หรือโดยหลอกลวง นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนหรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน อันมิใช่การกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา” มาตรา 14 (1) ที่แก้ไขใหม่จึงใช้กับกรณีกระทำการโดยทุจริต หรือโดยหลอกลวง นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ทางอินเทอร์เน็ต หรือทางออนไลน์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือน หรือปลอม หรือเป็นเท็จ ที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน แต่ไม่ใช้กับกรณีนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์เพื่อการใส่ความผู้อื่นโดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง ซึ่งมีบทบัญญัติตามประมวลกฎหมายอาญาระบุไว้ว่าเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทแล้ว การกระทำของจำเลยทั้งสองตามที่โจทก์ฟ้องจึงย่อมไม่เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14 (1) ที่บัญญัติในภายหลัง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 2 วรรคสอง โดยเฉพาะฟ้องโจทก์ข้อ 2.2 และข้อ 2.3 ก็มิได้บรรยายว่าจำเลยทั้งสองมีการกระทำอันเป็นการนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อย่างไร จึงไม่ถือว่าโจทก์ประสงค์ให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามฟ้องข้อ 2.2 และข้อ 2.3 ในความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคสี่ โจทก์ร่วมจึงไม่มีสิทธิฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามฟ้องข้อ 2.2 และข้อ 2.3 ในความผิดตามพระราชบัญญัติดังกล่าวได้ ฎีกาของโจทก์ร่วมในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

ปัญหาวินิจฉัยประการสุดท้ายตามฎีกาของโจทก์ร่วมมีว่า จำเลยทั้งสองต้องรับผิดชำระค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ร่วมหรือไม่ เพียงใด เห็นว่า การที่จำเลยที่ 1 กล่าวปราศรัยใส่ความหมิ่นประมาทเป็นที่เสียหายแก่ชื่อเสียงหรือเกียรติคุณของโจทก์ร่วม ย่อมเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ร่วมอันจะต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 423 เมื่อพิเคราะห์สถานะของโจทก์ร่วมและพฤติการณ์กระทำผิดของจำเลยที่ 1 แล้ว เห็นสมควรกำหนดให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ร่วมเป็นเงิน 100,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันที่ 13 มิถุนายน 2555 อันเป็นวันที่กระทำละเมิดเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ส่วนจำเลยที่ 2 มิได้ร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 1 จึงไม่ได้กระทำการใดอันเป็นการละเมิดต่อโจทก์ร่วม จึงไม่ต้องรับผิดชำระค่าสินไหมทดแทนดังกล่าว

พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 136, 328 การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 6 เดือน และปรับ 100,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 (ที่แก้ไขใหม่) หากไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 (ที่แก้ไขใหม่) กับให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ร่วมเป็นเงิน 100,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 13 มิถุนายน 2555 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ

สำนักงานกฎหมายปรัชญาเศรษฐ์ทนายความ Copyright © 2021. All rights reserved.