คดีเช็ควางเงินหลังจากศาลอุทธรณ์พิพากษาได้หรือไม่

คดีเช็ควางเงินหลังจากศาลอุทธรณ์พิพากษาได้หรือไม่

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83

ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่า คดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง

จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ลงโทษปรับจำเลยที่ 1 จำนวน 25,000 บาท จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 3 เดือน หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29

จำเลยทั้งสองอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยทั้งสองฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่า จำเลยทั้งสองสำนึกในการกระทำความผิดแล้ว จึงขอถอนคำให้การเดิมและให้การใหม่เป็นรับสารภาพนั้น เห็นว่า ฎีกาของจำเลยทั้งสองดังกล่าวเป็นการขอแก้ไขคำให้การ ซึ่งจำเลยทั้งสองไม่อาจกระทำได้ เพราะการแก้ไขคำให้การจะต้องกระทำก่อนศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 163 วรรคสอง ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499 มาตรา 4 และพระราชบัญญัติให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ. 2520 มาตรา 3 ฎีกาของจำเลยทั้งสองในข้อนี้จึงถือเป็นเพียงการสละข้อต่อสู้เดิมและยอมรับข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ว่าจำเลยทั้งสองกระทำความผิดตามฟ้องเท่านั้น ส่วนที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่า จำเลยทั้งสองนำเงินตามเช็คพิพาทมาวางศาลและแจ้งโจทก์ให้มารับเงินไปแล้ว สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์จึงระงับไปนั้น ในข้อนี้ข้อเท็จจริงได้ความว่า ภายหลังจากศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์แล้ว จำเลยทั้งสองนำเงิน 543,200 บาท เต็มตามจำนวนที่สั่งจ่ายในเช็คพิพาทมาวางศาลเพื่อชำระหนี้แก่โจทก์ และศาลชั้นต้นได้นัดพร้อมเพื่อสอบถามคู่ความทั้งสองฝ่าย โดยปรากฏตามรายงานกระบวนพิจารณาฉบับลงวันที่ 4 มิถุนายน 2564 ว่า ในวันนัดพร้อมทนายโจทก์แถลงต่อศาลชั้นต้นว่าฝ่ายโจทก์ไม่ประสงค์จะรับเงินดังกล่าว เนื่องจากไม่ได้ทำให้หนี้ตามเช็คพิพาทสิ้นผลไป ประกอบกับโจทก์และจำเลยทั้งสองยังมีคดีพิพาทกันอีกหลายเรื่อง จึงไม่ประสงค์จะยอมความกันในคดีนี้ โดยทนายโจทก์มิได้โต้แย้งคัดค้านแสดงเหตุผลให้ชัดแจ้งว่า การที่จำเลยทั้งสองนำเงินมาวางศาลเพื่อชำระหนี้แก่โจทก์นั้น ไม่ทำให้หนี้ตามเช็คพิพาทสิ้นผลผูกพันเพราะเหตุใด คงกล่าวอ้างแต่เพียงว่าเป็นเพราะโจทก์และจำเลยทั้งสองยังมีคดีพิพาทกันอีกหลายเรื่อง ซึ่งเป็นเหตุผลที่โจทก์ไม่อาจยกขึ้นอ้างได้ เพราะไม่เกี่ยวข้องกับมูลหนี้ตามเช็คพิพาทในคดีนี้ เช่นนี้ พฤติการณ์การวางเงินของจำเลยทั้งสองตามที่ได้ความดังกล่าว จึงถือได้ว่าจำเลยทั้งสองได้กระทำการเพื่อชำระหนี้ตามฟ้องแก่โจทก์อันทำให้หนี้ตามเช็คพิพาทสิ้นผลผูกพันไปก่อนศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว คดีจึงเลิกกันตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 7 สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ย่อมระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 โจทก์จะยกข้อต่อสู้ว่าหนี้ตามเช็คพิพาทยังไม่สิ้นผลผูกพันเพราะโจทก์มิได้รู้เห็นยินยอมด้วยดังที่กล่าวแก้ฎีกามาหาได้ไม่ ฎีกาของจำเลยทั้งสองในข้อนี้ฟังขึ้น

พิพากษากลับ ให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ

สรุป

หลังจากศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์แล้ว จำเลยทั้งสองนำเงินเต็มตามจำนวนที่สั่งจ่ายในเช็คพิพาทมาวางศาลเพื่อชำระหนี้แก่โจทก์ ศาลชั้นต้นนัดสอบถามคู่ความทั้งสองฝ่าย ในวันนัดพร้อมทนายโจทก์แถลงต่อศาลชั้นต้นว่าฝ่ายโจทก์ไม่ประสงค์จะรับเงินดังกล่าว เนื่องจากไม่ได้ทำให้หนี้ตามเช็คพิพาทสิ้นผลไป ประกอบกับโจทก์และจำเลยทั้งสองยังมีคดีพิพาทกันอีกหลายเรื่อง ไม่ประสงค์จะยอมความกันในคดีนี้ โดยทนายโจทก์มิได้โต้แย้งคัดค้านแสดงเหตุผลให้ชัดแจ้งว่า การที่จำเลยทั้งสองนำเงินมาวางศาลเพื่อชำระหนี้แก่โจทก์นั้น ไม่ทำให้หนี้ตามเช็คพิพาทสิ้นผลผูกพันเพราะเหตุใด คงอ้างเพียงว่าโจทก์และจำเลยทั้งสองยังมีคดีพิพาทกันอีกหลายเรื่อง ซึ่งเป็นเหตุผลที่โจทก์ไม่อาจยกขึ้นอ้างได้ เพราะไม่เกี่ยวข้องกับมูลหนี้ตามเช็คพิพาทในคดีนี้ เช่นนี้การวางเงินของจำเลยทั้งสองถือได้ว่าจำเลยทั้งสองได้กระทำการเพื่อชำระหนี้ตามฟ้องแก่โจทก์อันทำให้หนี้ตามเช็คพิพาทสิ้นผลผูกพันไปก่อนศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว คดีจึงเลิกกันตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 7 สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ย่อมระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39

สำนักงานกฎหมายปรัชญาเศรษฐ์ทนายความ Copyright © 2021. All rights reserved.