คืนทรัพย์สินที่ถูกหลอกลวงไม่ได้ ศาลฎีกาวางหลักไว้อย่างไร

 

 

คดีทั้งสองสำนวนนี้ ศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษารวมกัน โดยให้เรียกโจทก์ทั้งสองสำนวนว่า โจทก์ เรียกจำเลยในสำนวนแรกว่า จำเลยที่ 1 และจำเลยในสำนวนหลังว่า จำเลยที่ 2

โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองสำนวนเป็นใจความขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91, 264, 266, 268, 341 กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันจัดให้มีการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมบ้านในส่วนของผู้เสียหายคืนให้แก่ผู้เสียหาย หากดำเนินการไม่ได้ให้ชดใช้ราคาทรัพย์เป็นเงิน 4,000,000 บาท แก่ผู้เสียหาย

จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ

ระหว่างพิจารณา นางสาวปรียนันท์ ผู้เสียหาย โดยพันตำรวจเอกชนชัย ผู้พิทักษ์ ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 266 (4), 341 (ที่ถูก มาตรา 341 (เดิม)) การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานฉ้อโกง จำคุก 1 ปี ฐานใช้ตั๋วเงินอันเป็นเอกสารปลอม จำคุก 6 ปี ทางนำสืบของจำเลยที่ 1 เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสี่ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ฐานฉ้อโกง คงจำคุก 9 เดือน ฐานใช้ตั๋วเงินอันเป็นเอกสารปลอม คงจำคุก 4 ปี 6 เดือน รวมจำคุก 4 ปี 15 เดือน ให้จำเลยที่ 1 ดำเนินการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 59402 พร้อมสิ่งปลูกสร้างในส่วนของโจทก์ร่วมคืนให้แก่โจทก์ร่วม หากดำเนินการไม่ได้ให้ใช้ราคาแทนเป็นเงิน 1,693,440 บาท ข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้ยก ยกฟ้องจำเลยที่ 2

จำเลยที่ 1 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ฐานใช้ตั๋วเงินอันเป็นเอกสารปลอม ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ให้จำคุก 6 ปี ลดโทษให้หนึ่งในสี่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้ว คงจำคุก 4 ปี 6 เดือน ให้จำเลยที่ 1 คืนเงิน 1,398,388 บาท แก่โจทก์ร่วม ยกคำขอให้จำเลยที่ 1 ดำเนินการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 59402 พร้อมสิ่งปลูกสร้างในส่วนของโจทก์ร่วมคืนให้แก่โจทก์ร่วม หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาแทนเป็นเงิน 1,693,480 (ที่ถูก 1,693,440) บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

จำเลยที่ 1 ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าการกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกันตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ให้ลงโทษในความผิดฐานฉ้อโกงจำคุก 9 เดือน และฐานใช้ตั๋วเงินอันเป็นเอกสารปลอมจำคุก 4 ปี 6 เดือน ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ความผิดฐานฉ้อโกงและความผิดฐานใช้ตั๋วเงินอันเป็นเอกสารปลอม เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานใช้ตั๋วเงินอันเป็นเอกสารปลอมซึ่งเป็นกฎหมายบทที่กำหนดโทษไว้หนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 4 ปี 6 เดือน ถือเป็นการแก้ไขเล็กน้อย และยังคงให้ลงโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี จึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคหนึ่ง คงมีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ประการแรกว่า สิทธินำคดีอาญามาฟ้องในความผิดฐานฉ้อโกงเป็นอันระงับไปเนื่องจากโจทก์ร่วมถอนคำร้องทุกข์แล้วหรือไม่ ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย จำเลยที่ 1 จึงหยิบยกขึ้นอ้างในชั้นฎีกาได้ แม้จะมิได้ว่ากล่าวกันมาก่อน ทั้งนี้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า เช็ค ซึ่งจำเลยที่ 1 สั่งจ่ายเงินเป็นการชำระราคาที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างอะพาร์ตเมนต์ให้แก่โจทก์ร่วมแล้วธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินเป็นผลสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องกล่าวหาว่าจำเลยที่ 1 ฉ้อโกงโจทก์ร่วมโดยหลอกลวงว่าจะซื้อที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวจากโจทก์ร่วม จึงเป็นความผิดกรรมเดียวกัน ฉะนั้น เมื่อปรากฏตามสำเนารายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีว่า ในวันที่ 8 กันยายน 2560 โจทก์ร่วมได้ขอถอนคำร้องทุกข์ในความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 แล้ว ย่อมทำให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องในความผิดฐานฉ้อโกงซึ่งเป็นความผิดกรรมเดียวกันระงับไปด้วยนั้น เห็นว่า เมื่อในรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีดังกล่าว โจทก์ร่วมแสดงเจตนาโดยระบุไว้อย่างชัดแจ้งว่าประสงค์จะถอนคำร้องทุกข์เฉพาะแต่ในความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คฯ เท่านั้น ไม่รวมถึงความผิดฐานฉ้อโกงด้วย ดังนั้น ไม่ว่าความผิดฐานฉ้อโกงจะเป็นกรรมเดียวกันหรือต่างกรรมกันกับความผิดฐานออกเช็คโดยเจตนามิให้มีการใช้เงินตามเช็ค ก็หาใช่ข้อสาระสำคัญไม่ โดยยังคงต้องถือว่าโจทก์ร่วมประสงค์ที่จะดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 1 ในความผิดฐานฉ้อโกงอยู่ต่อไปสิทธินำคดีอาญามาฟ้องในความผิดฐานฉ้อโกงจึงยังไม่ระงับไปด้วยการถอนคำร้องทุกข์ดังกล่าวตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (2) ฎีกาของจำเลยที่ 1 ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ประการต่อไปมีว่า การกระทำของจำเลยที่ 1 ที่พิจารณาได้ความเป็นเรื่องของการผิดสัญญาแพ่งเท่านั้นหรือไม่ เห็นว่า ในปัญหาดังกล่าวจำเลยที่ 1 ฎีกาว่า พฤติการณ์แห่งคดีเป็นเรื่องของการผิดสัญญาทางแพ่งโดยข้อเท็จจริงซึ่งจำเลยที่ 1 ยกขึ้นกล่าวอ้างนั้นแตกต่างไปจากข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์รับฟังมา กรณีจึงมิใช่เป็นแต่เพียงการปรับข้อเท็จจริงเข้ากับบทกฎหมาย อันเป็นปัญหาข้อกฎหมายดังที่จำเลยที่ 1 ฎีกา หากเป็นกรณีที่จำเลยที่ 1 โต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังข้อเท็จจริงของศาลอุทธรณ์เพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายว่าพฤติการณ์แห่งคดีเป็นไปตามข้อเท็จจริงที่จำเลยที่ 1 กล่าวอ้างซึ่งเป็นเรื่องของการผิดสัญญาทางแพ่ง มิใช่ฉ้อโกง อันเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้ ส่วนฎีกาของจำเลยที่ 1 ประการต่อไปที่ว่าคดีโจทก์ในความผิดฐานฉ้อโกงขาดอายุความแล้วนั้น จำเลยที่ 1 ฎีกาให้รับฟังข้อเท็จจริงเกี่ยวกับวันที่โจทก์ร่วมรู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดว่าเป็นวันที่ 12 ตุลาคม 2559 มิใช่เป็นวันที่ 9 มกราคม 2540 และวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2560 ตามที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัย การที่โจทก์ร่วมแจ้งความร้องทุกข์เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2560 คดีจึงขาดอายุความตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 96 ซึ่งเห็นได้ว่าเป็นการโต้เถียงข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์รับฟังมาเพื่อนำไปสู่ข้อกฎหมายอีกเช่นกัน หาใช่ฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายตามที่จำเลยที่ 1 กล่าวอ้างไม่ หากแต่เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายข้างต้น ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้

ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ประการสุดท้ายมีว่า การที่จำเลยที่ 1 นำแคชเชียร์เช็ค ซึ่งสั่งจ่ายเงินให้แก่โจทก์ร่วมและ/หรือจำเลยที่ 2 จำนวนเงิน 1,550,000 บาท เป็นค่าที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างไปเรียกเก็บเงินเข้าบัญชีของจำเลยที่ 1 แม้จำเลยที่ 1 จะรู้อยู่แล้วว่าลายมือชื่อโจทก์ร่วมที่สลักหลังเช็คฉบับดังกล่าวเป็นลายมือปลอม ก็ไม่ถือว่าเป็นการทำให้ผู้อื่นหรือประชาชนเสียหายอันจะเป็นความผิดฐานใช้ตั๋วเงินอันเป็นเอกสารปลอมตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 266 (4) นั้น เห็นว่า จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ในปัญหาดังกล่าวไว้ในข้อ 2.2 แต่ศาลอุทธรณ์ยังมิได้วินิจฉัยให้ จึงเป็นการไม่ชอบด้วยการพิจารณาและการทำคำพิพากษาในชั้นอุทธรณ์ที่ต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ทั้งในปัญหาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายโดยให้เหตุผลประกอบคำวินิจฉัยอย่างครบถ้วนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 186 (6) ประกอบมาตรา 215 แต่เมื่อสำนวนขึ้นมาสู่การพิจารณาของศาลฎีกาแล้ว ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยในปัญหาดังกล่าวไปเสียทีเดียวโดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยเพิ่มเติมอีก ทั้งนี้เพื่อมิให้คดีต้องล่าช้า จำเลยที่ 1 นำสืบและฎีกาต่อสู้ว่า จำเลยที่ 1 ประสงค์จะซื้อที่ดินและสิ่งปลูกสร้างซึ่งโจทก์ร่วมมีกรรมสิทธิ์ร่วมกับจำเลยที่ 2 ในราคา 9,000,000 บาท อย่างแท้จริง แต่โดยที่ระหว่างจำเลยที่ 1 กับนางสาวฐิติรัตน์ มีข้อตกลงซื้อขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างเดียวกันนี้ในราคา 2,000,000 บาท โดยมีเงื่อนไขให้จำเลยที่ 1 ซื้อคืนได้ ฉะนั้นเพื่อความสะดวกและไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม 2 ครั้ง จึงขอให้โจทก์ร่วมจดทะเบียนขายที่ดินและสิ่งปลูกสร้างให้แก่นางสาวฐิติรัตน์ในราคา 2,000,000 บาท โดยตรง ดังนั้น เงินตามแคชเชียร์เช็ค จำนวน 2,000,000 บาท ที่นางสาวฐิติรัตน์นำมาชำระเป็นค่าที่ดินและสิ่งปลูกสร้างโดยระบุชื่อโจทก์ร่วมและ/หรือจำเลยที่ 2 ว่าเป็นผู้รับเงิน จึงเป็นของจำเลยที่ 1 ซึ่งจำเลยที่ 1 ก็ได้นำเช็คเข้าบัญชีเรียกเก็บเงินเพื่อนำเงินส่วนหนึ่งจำนวน 500,000 บาท มาชำระให้แก่โจทก์ร่วมเป็นค่ามัดจำตามสัญญาแล้ว กรณีจึงจะถือว่าโจทก์ร่วมได้รับความเสียหายไม่ได้นั้น เห็นว่า เมื่อศาลอุทธรณ์รับฟังข้อเท็จจริงเป็นที่ยุติแล้วว่า จำเลยที่ 1 มีเจตนาหลอกลวงโจทก์ร่วมให้จดทะเบียนขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่นางสาวฐิติรัตน์ ซึ่งโจทก์ร่วมหลงเชื่อว่าเป็นการขายให้แก่จำเลยที่ 1 ในราคา 9,000,000 บาท โดยโจทก์ร่วมไม่ทราบข้อตกลงที่มีอยู่ระหว่างจำเลยที่ 1 กับนางสาวฐิติรัตน์ อีกทั้งไม่เคยเห็นแคชเชียร์เช็ค ดังนี้ กรณีจึงต้องถือว่าแคชเชียร์เช็คฉบับนี้ นางสาวฐิติรัตน์นำมาชำระค่าที่ดินและสิ่งปลูกสร้างให้แก่โจทก์ร่วมและจำเลยที่ 2 โดยตรง มิใช่ชำระให้แก่จำเลยที่ 1 การที่จำเลยที่ 1 นำเช็คเข้าบัญชีเพื่อเรียกเก็บเงินนำมาเป็นของตนเอง โดยอาศัยลายมือชื่อปลอมของโจทก์ร่วมในการสลักหลังเช็คยืนยันต่อธนาคาร ย่อมทำให้โจทก์ร่วมซึ่งเป็นผู้รับเงินตามเช็คที่แท้จริงได้รับความเสียหายแล้ว ส่วนข้อที่จำเลยที่ 1 ฎีกาโต้แย้งต่อไปว่า เมื่อแคชเชียร์เช็คฉบับนี้สั่งจ่ายเงินให้แก่โจทก์ร่วมและ/หรือจำเลยที่ 2 ฉะนั้น ลำพังจำเลยที่ 2 เพียงคนเดียวเมื่อลงลายมือชื่อสลักหลังเช็คแล้ว ย่อมส่งมอบให้แก่จำเลยที่ 1 เพื่อนำเข้าบัญชีเรียกเก็บเงินจากธนาคารได้ ถึงแม้จะปรากฏว่าลายมือชื่อโจทก์ร่วมที่สลักหลังเช็คเป็นลายมือชื่อปลอมก็ตาม ก็ถือไม่ได้ว่าโจทก์ร่วมได้รับความเสียหายนั้น เห็นว่า เมื่อโจทก์ร่วมเป็นผู้มีสิทธิได้รับเงินตามเช็ค ก็ย่อมเป็นผู้มีสิทธิสลักหลังเช็คเพื่อเรียกเก็บเงินจากธนาคารได้ดุจเดียวกับจำเลยที่ 2 การที่จำเลยที่ 1 ทราบว่ามีผู้ปลอมลายมือชื่อโจทก์ร่วมสลักหลังเช็ค แล้วจำเลยที่ 1 ยังนำเช็คฉบับดังกล่าวไปเรียกเก็บเงินจากธนาคารโดยโจทก์ร่วมไม่รู้เห็นยินยอม ถึงแม้จำเลยที่ 2 จะได้ลงลายมือชื่อสลักหลังและส่งมอบเช็คให้แก่จำเลยที่ 1 ก็ตาม จำเลยที่ 1 ก็ไม่มีสิทธิแสวงหาประโยชน์จากลายมือชื่อปลอมของโจทก์ร่วมในฐานะผู้ทรงเช็คโดยชอบด้วยกฎหมายในอันที่จะใช้เป็นข้อยืนยันต่อธนาคารว่าจำเลยที่ 1 ได้รับโอนเช็คจากโจทก์ร่วมด้วยแล้วโดยชอบ เพราะเป็นการกระทำที่เป็นเหตุให้โจทก์ร่วมได้รับความเสียหาย การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงครบองค์ประกอบความผิดฐานใช้ตั๋วเงินอันเป็นเอกสารปลอมแล้ว ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 ฐานใช้ตั๋วเงินอันเป็นเอกสารปลอมนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน

อนึ่ง การที่โจทก์ร่วมโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 59402 พร้อมสิ่งปลูกสร้าง เฉพาะส่วนของโจทก์ร่วมไปเป็นของนางสาวฐิติรัตน์นั้น เนื่องมาจากจำเลยที่ 1 หลอกลวงโจทก์ร่วมว่าจะซื้อที่ดินดังกล่าวพร้อมสิ่งปลูกสร้างในราคา 9,000,000 บาท ซึ่งโจทก์ร่วมจะได้รับเงินค่าที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างเฉพาะส่วนของโจทก์ร่วม 4,500,000 บาท โจทก์ร่วมหลงเชื่อตามที่จำเลยที่ 1 หลอกลวงโจทก์ร่วมจึงไปดำเนินการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างที่สำนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร ถึงแม้ผู้รับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวจะไม่ใช่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้หลอกลวงก็ตาม แต่ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 บัญญัติเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า“…และโดยการหลอกลวงดังว่านั้นได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม หรือทำให้ผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม ทำ ถอน หรือทำลายเอกสารสิทธิ…” ดังนั้น การที่นางสาวฐิติรัตน์เป็นผู้ได้ไปซึ่งที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างอันเนื่องมาจากการที่จำเลยที่ 1 หลอกลวงโจทก์ร่วม กรณีจึงเป็นการได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวงให้ทำเอกสารสิทธิตามมาตรา 341 หาใช่เป็นการที่จำเลยที่ 1 ได้ไปซึ่งเงินจำนวน 1,398,388 บาท จากนางสาวฐิติรัตน์ดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยไม่ จำเลยที่ 1 จึงต้องคืนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างที่เป็นของโจทก์ร่วมให้แก่โจทก์ร่วม ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาจึงมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกาดังได้วินิจฉัยข้างต้น เนื่องจากข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า ที่ดินโฉนดเลขที่ 59402 พร้อมสิ่งปลูกสร้างมีราคาประเมิน 3,386,880 บาท ประกอบกับโจทก์ร่วมได้รับเงินมัดจำจากจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 500,000 บาท ดังนั้น หากจำเลยที่ 1 ไม่สามารถคืนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างส่วนที่เป็นของโจทก์ร่วมได้ จำเลยที่ 1 จะต้องใช้ราคาแทนให้แก่โจทก์ร่วมเป็นเงิน 1,193,440 บาท และเมื่อจำเลยที่ 1 จะต้องคืนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างเฉพาะส่วนของโจทก์ร่วมหรือใช้ราคาแทนให้แก่โจทก์ร่วมแล้ว จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องคืนเงิน 1,398,388 บาท ให้แก่โจทก์ร่วมตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 ไม่ต้องคืนเงิน 1,398,338 บาท แต่ให้จำเลยที่ 1 โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 59402 พร้อมสิ่งปลูกสร้างเฉพาะส่วนของโจทก์ร่วมคืนให้แก่โจทก์ร่วม หากคืนไม่ได้ให้จำเลยที่ 1 ใช้ราคาแทนเป็นเงิน 1,193,440 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

สรุป

โจทก์ร่วมหลงเชื่อตามที่จำเลยที่ 1 หลอกลวงจึงไปดำเนินการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง แม้ผู้รับโอนจะไม่ใช่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้หลอกลวง แต่การที่ ฐ. ได้ไปซึ่งที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างอันเนื่องมาจากการที่จำเลยที่ 1 หลอกลวงโจทก์ร่วม จึงเป็นการได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวงให้ทำเอกสารสิทธิตาม ป.อ. มาตรา 341 ไม่ใช่เป็นการที่จำเลยที่ 1 ได้ไปซึ่งเงินค่าที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจาก ฐ. จำเลยที่ 1 จึงต้องคืนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างที่เป็นของโจทก์ร่วมให้แก่โจทก์ร่วม หากจำเลยที่ 1 คืนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างส่วนที่เป็นของโจทก์ร่วมไม่ได้ จำเลยที่ 1 จะต้องใช้ราคาแทนให้แก่โจทก์ร่วม

สำนักงานกฎหมายปรัชญาเศรษฐ์ทนายความ Copyright © 2021. All rights reserved.