จุดที่ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าเป็นคำร้องทุกข์ในคดีฉ้อโกงหรือไม่

จุดที่ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าเป็นคำร้องทุกข์ในคดีฉ้อโกงหรือไม่

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91, 341, 342 และให้จำเลยคืนเงิน 4,000,000 บาท แก่ผู้เสียหาย

จำเลยให้การปฏิเสธ

ระหว่างพิจารณา นางสุดาพร ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 จำคุก 3 ปี กับให้จำเลยคืนเงิน 4,000,000 บาท แก่โจทก์ร่วม

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง

โจทก์และโจทก์ร่วมฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์และโจทก์ร่วมประการแรกว่า คดีขาดอายุความตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 7 หรือไม่ เห็นว่า ตามคำเบิกความของโจทก์ร่วมดังกล่าว ฟังได้ว่าโจทก์ร่วมทราบว่าถูกหลอกลวงให้โอนเงินไปยังบัญชีธนาคาร ก. ที่มีชื่อนางสาวลดา เป็นเจ้าของบัญชี ซึ่งอ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่ธนาคาร อ. และบัญชีธนาคาร ก. ของนางสาวชนันท์ ภริยาจำเลย เมื่อโจทก์ร่วมไปตามหาจำเลยที่หน่วยงานของจำเลยเมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2561 และถูกจำเลยปฏิเสธ อีกทั้งการที่โจทก์ร่วมถูกหลอกลวงให้โอนเงินไปยังบัญชีเงินฝากของนางสาวลดา และนางสาวชนันท์ก็เพื่อให้ธนาคารผู้ให้กู้อนุมัติเงินกู้แก่จำเลยแล้วนำมาชำระหนี้เงินกู้คืนโจทก์ร่วม โดยส่วนหนึ่งของการหลอกลวงคือการกล่าวอ้างของจำเลยว่าสามารถกู้ยืมเงินจากธนาคาร อ. ซึ่งเป็นสวัสดิการเงินกู้แก่บุคลากรของหน่วยงานที่จำเลยสังกัดอยู่ เมื่อจำเลยปฏิเสธข้อเท็จจริงดังกล่าวโจทก์ร่วมย่อมทราบได้ว่าจำเลยคือผู้ที่หลอกลวงโจทก์ร่วมตั้งแต่วันดังกล่าวนั้นเอง เมื่อโจทก์ร่วมไปพบพนักงานสอบสวนเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2561 ซึ่งรับแจ้งความจากโจทก์ร่วม มีเนื้อความสรุปได้ว่า เมื่อเดือนเมษายน 2560 จำเลยและนางสาวชนันท์ภริยามาขอความช่วยเหลือด้านการเงิน โดยโจทก์ร่วมโอนเงินประมาณ 47,000 บาท เข้าธนาคาร ก. ของนางสาวลดา เพื่อชำระหนี้แทนให้แก่กรมทหารราบที่ 19 จำเลยได้ติดต่อโจทก์ร่วมทางโทรศัพท์เคลื่อนที่โดยแอบอ้างว่าเป็นผู้บังคับบัญชาและเจ้าหน้าที่ธนาคาร อ. ทั้งมีการส่งข้อความทางโทรศัพท์เคลื่อนที่ จึงมาขอลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐานเพื่อจะไปขอติดตามการสนทนาระหว่างผู้แจ้งกับจำเลย เพื่อดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป ร้อยตำรวจเอกพินิจ พนักงานสอบสวนรับแจ้งความไว้ตามความประสงค์ของผู้แจ้งแล้ว และให้โจทก์ร่วมไปพบพนักงานสอบสวน สถานีตำรวจภูธรเมืองกาญจนบุรี ซึ่งเป็นท้องที่เกิดเหตุ ดังนี้เมื่อข้อความตามรายงานประจำวันรับแจ้งเป็นหลักฐานดังกล่าวระบุชัดเจนว่าแจ้งไว้เพื่อเป็นหลักฐานและผู้แจ้งจะขอไปติดตามการสนทนาระหว่างผู้แจ้งกับจำเลยเพื่อดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป มิใช่เป็นการมอบคดีให้พนักงานสอบสวนดำเนินการสอบสวนตามกฎหมายแต่อย่างใด ส่วนที่โจทก์ฎีกาว่า การแจ้งความดังกล่าวพนักงานสอบสวนทราบแล้วว่าโจทก์ร่วมประสงค์ดำเนินคดีเพียงแต่อยู่นอกเขตอำนาจสอบสวนจึงเป็นคำร้องทุกข์โดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว การลงบันทึกประจำวันรับแจ้งเป็นหลักฐานเป็นความเข้าใจโดยคลาดเคลื่อนของพนักงานสอบสวนเอง นั้น เห็นว่า แม้ร้อยตำรวจเอกพินิจจะเบิกความว่าโจทก์ร่วมแจ้งว่าถูกจำเลยฉ้อโกงเงินไป 4,000,000 บาท แต่พยานเห็นว่ายังไม่แน่ชัดว่าเป็นการกระทำผิดอย่างไร ยังสงสัยว่าจะเป็นเรื่องทางแพ่งหรือไม่จึงลงบันทึกประจำวันไว้แล้วพยานจึงรวบรวมพยานหลักฐานด้วยการตรวจสอบชื่อเจ้าของบัญชีธนาคารที่เกี่ยวข้องและชื่อผู้ใช้หมายโทรศัพท์ติดต่อกับโจทก์ร่วมซึ่งพบว่า คือ จำเลย เมื่อทราบแล้วพยานจึงตั้งเลขคดีรับไว้ดำเนินการเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2561 ก็ตาม แต่เมื่อตรวจสอบจากหนังสือที่อ้างถึงผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แจ้งผลการตรวจสอบชื่อผู้ใช้บริการมายังพนักงานสอบสวน ซึ่งอ้างถึงหนังสือขอตรวจสอบของพนักงานสอบสวนฉบับลงวันที่ 27 สิงหาคม 2561 และพนักงานสอบสวนส่งโทรศัพท์เคลื่อนที่ของโจทก์ร่วมไปตรวจสอบกู้คืนข้อความสนทนาที่ถูกลบทิ้งไปแล้ว ก็อ้างถึงหนังสือขอให้ตรวจสอบของพนักงานสอบสวนฉบับลงวันที่ 25 กันยายน 2561 อันเป็นระยะเวลาภายหลังวันที่ 25 กรกฎาคม 2561 โดยระบุวันที่แจ้งความร้องทุกข์คือวันที่ 25 กรกฎาคม2561 หาใช่วันที่ 8 พฤษภาคม 2561 ไม่ ส่วนที่โจทก์ร่วมฎีกาว่า การไปแจ้งความเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม2561 นั้น โจทก์ร่วมยังไม่แน่ใจว่าใครคือผู้กระทำผิดเพียงแต่สงสัยจำเลยและแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนในวันดังกล่าวโดยประสงค์จะร้องทุกข์และเอาผิดกับจำเลยแล้วนั้น เห็นว่า การแจ้งความร้องทุกข์ในความผิดอันยอมความได้ไม่จำต้องทราบตัวผู้กระทำความผิดแต่ต้องมีเจตนาให้ผู้กระทำผิดได้รับโทษ เมื่อข้อความที่ปรากฏในรายงานประจำวันรับแจ้งเป็นหลักฐาน ระบุแจ้งชัดแล้วว่า เป็นการแจ้งความไว้เป็นหลักฐานและผู้แจ้งขอไปติดตามการสนทนาระหว่างผู้แจ้งกับจำเลยเพื่อดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป มิใช่เป็นการมอบคดีให้พนักงานสอบสวนดำเนินการสอบสวนตามกฎหมายเพื่อให้ได้ตัวผู้กระทำผิดมารับโทษ ทั้งยังปรากฏข้อความที่พนักงานสอบสวนให้โจทก์ร่วมผู้แจ้งความไปพบพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรเมืองกาญจนบุรี โดยเข้าใจว่าเป็นท้องที่อันอยู่ในเขตอำนาจสอบสวน และพนักงานสอบสวนก็ยังมิได้ดำเนินการใด ๆ การตรวจสอบหาตัวผู้ร่วมกระทำผิดของพนักงานสอบสวนเป็นการดำเนินการภายหลังจากลงบันทึกในรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2561 แล้วทั้งสิ้น การแจ้งความตามรายงานประจำวันรับแจ้งเป็นหลักฐาน จึงไม่เป็นคำร้องทุกข์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 2 (7) และมาตรา 123 เพราะขณะแจ้งยังมิได้มีเจตนาจะให้ผู้กระทำความผิดได้รับโทษ โจทก์ร่วมเพิ่งแจ้งความร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีกับจำเลยเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2561 เมื่อโจทก์ร่วมรู้เรื่องความผิดและรู้ว่าจำเลยเป็นผู้กระทำความผิดตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม 2561 การร้องทุกข์ของโจทก์ร่วมจึงพ้นกำหนดระยะเวลาสามเดือน นับแต่วันที่โจทก์ร่วมรู้เรื่องความผิด และรู้ตัวผู้กระทำความผิดเป็นอันขาดอายุความแล้ว สิทธิของโจทก์และโจทก์ร่วมในการนำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (6) กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาข้ออื่นของโจทก์และโจทก์ร่วมอีกต่อไป เพราะไม่ทำให้ผลแห่งคดีเปลี่ยนแปลงไป ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายกฟ้องโจทก์ด้วยเหตุคดีโจทก์ขาดอายุความมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์และโจทก์ร่วมฟังไม่ขึ้น

พิพากษายืน

สรุป

โจทก์ร่วมทราบว่าถูกหลอกลวงเมื่อโจทก์ร่วมไปตามหาจําเลยที่หน่วยงานของจําเลย เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2561 โจทก์ร่วมย่อมทราบได้ว่า จําเลยคือผู้ที่หลอกลวงโจทก์ร่วมตั้งแต่วันดังกล่าว โจทก์ร่วมไปพบพนักงานสอบสวน เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2561 ข้อความที่ปรากฏในรายงานประจำวันรับแจ้งเป็นหลักฐานระบุแจ้งชัดว่า เป็นการแจ้งความไว้เป็นหลักฐานและผู้แจ้งขอไปติดตามการสนทนาระหว่างผู้แจ้งกับจําเลยเพื่อดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป มิใช่เป็นการมอบคดีให้พนักงานสอบสวนดำเนินการสอบสวนตามกฎหมายเพื่อให้ได้ตัวผู้กระทำผิดมารับโทษ การแจ้งความตามรายงานประจำวันรับแจ้งเป็นหลักฐาน จึงไม่เป็นคําร้องทุกข์ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (7) และมาตรา 123 เพราะขณะแจ้งยังมิได้มีเจตนาจะให้ผู้กระทำความผิดได้รับโทษ โจทก์ร่วมเพิ่งแจ้งความร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีกับจําเลย เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2561 เมื่อโจทก์ร่วมรู้เรื่องความผิดและรู้ว่าจําเลยเป็นผู้กระทำความผิด ตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม 2561 การร้องทุกข์ของโจทก์ร่วมจึงพ้นกำหนดระยะเวลาสามเดือน นับแต่วันที่โจทก์ร่วมรู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดเป็นอันขาดอายุความ สิทธิของโจทก์และโจทก์ร่วมในการนําคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (6)

สำนักงานกฎหมายปรัชญาเศรษฐ์ทนายความ Copyright © 2021. All rights reserved.