จุดใดในคดีฉ้อโกง จุดที่ศาลฎีกาตีความว่าเป็นผิดสัญญาทางแพ่ง

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยโดยทุจริตได้หลอกลวงนางบุญหนักด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จให้มอบเงินแก่จำเลยเพื่อนำไปซื้อเบี้ยเลี้ยงตำรวจ นางบุญหนักหลงเชื่อได้มอบเงินให้จำเลยไป 70,000 บาท ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 และให้จำเลยใช้เงิน 70,000 บาทแก่ผู้เสียหาย

นางบุญหนักได้รับอนุญาตเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการ

จำเลยให้การว่าไม่ได้หลอกลวง จำเลยยืมเงินผู้เสียหายไป 70,000 บาทเพื่อใช้กิจส่วนตัว จะคืนให้ในไม่ช้า และเพิ่มเติมคำให้การว่า จำเลยยืมเงินผู้เสียหายไป 700 บาทเท่านั้นและตัดฟ้องว่าผู้เสียหายเคยฟ้องจำเลยในข้อหาเดียวกันมาแล้วครั้งหนึ่ง แต่ได้ถอนฟ้องไปแล้วตามคดีแดงของศาลชั้นต้นที่ 504/2513 โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้อง

ศาลชั้นต้นเห็นว่า คดีที่ผู้เสียหายได้ถอนฟ้องไป แม้จะเป็นคดีเรื่องเดียวกัน แต่ก็มิได้ถอนไปโดยเด็ดขาดเพื่อเลิกคดี หากเป็นการถอนไปเพื่อจะขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการในคดีนี้โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง พิพากษาว่าจำเลยมีความผิด ให้จำคุก และคืนเงินแก่ผู้เสียหาย

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์เห็นว่า การกระทำของจำเลยเป็นการผิดสัญญาทางแพ่งไม่เข้าเกณฑ์ความผิดฐานฉ้อโกง และคดีนี้จำเลยต่อสู้ว่าผู้เสียหายได้เคยฟ้องจำเลยทางอาญามาแล้วและถอนฟ้องไปไม่ปรากฏว่าโจทก์โต้แย้งหรือนำสืบให้เห็นเป็นอย่างอื่น ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าผู้เสียหายถอนฟ้องไปเพื่อขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการนั้น เป็นการวินิจฉัยนอกสำนวน โจทก์และผู้เสียหายจะมาฟ้องคดีนี้อีกไม่ได้ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 36(3), 39(2) พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์

โจทก์ร่วมฎีกาว่าโจทก์ร่วมมีอำนาจฟ้อง

ศาลฎีกาเห็นว่า จำเลยให้การไว้ว่าคดีเรื่องนี้ผู้เสียหายได้เคยเป็นโจทก์ฟ้องจำเลยเมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2513 ต่อมาพนักงานอัยการได้ยื่นฟ้องจำเลยเมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2513 ในข้อหาเดียวกันแล้วผู้เสียหายได้ถอนฟ้องคดีที่ผู้เสียหายได้ยื่นฟ้องไว้นั้นเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2513 ซึ่งเป็นวันนัดสืบพยานโจทก์นัดแรกของพนักงานอัยการ ปรากฏเหตุดังกล่าวมาซึ่งเป็นความจริง จึงเป็นที่เห็นได้ชัดแจ้งว่าผู้เสียหายถอนฟ้องคดีที่ผู้เสียหายได้ฟ้องจำเลยเสียก็เพื่อประสงค์จะขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ในคดีที่พนักงานอัยการได้ฟ้องจำเลยนั่นเอง ฉะนั้น การที่ศาลชั้นต้นได้ยกเอาเหตุที่ได้ความจากคำให้การของจำเลยซึ่งยื่นไว้ในสำนวนคดีเรื่องนี้มาเป็นข้อวินิจฉัยว่า คดีที่ผู้เสียหายได้ถอนฟ้องไปนั้นมิได้ถอนฟ้องไปโดยเด็ดขาดเพื่อเลิกคดี แต่เป็นการถอนฟ้องไปเพื่อขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการ จึงไม่เป็นการวินิจฉัยนอกสำนวนการถอนฟ้องของผู้เสียหายในกรณีเช่นนี้จึงมิใช่เป็นการถอนฟ้องเด็ดขาดตามความหมายในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 36 อัยการจึงมีอำนาจฟ้องจำเลย และสิทธินำคดีอาญามาฟ้องของผู้เสียหายยังไม่ระงับไป ดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 39(2) ผู้เสียหายจึงมีสิทธิขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการฟ้องคดีนี้ได้

ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยได้เอาเงินของผู้เสียหายไป 70,000 บาท อ้างว่าเพื่อไปซื้อเบี้ยเลี้ยงตำรวจ และจะให้ผลประโยชน์แก่ผู้เสียหาย แล้ววินิจฉัยความผิดฐานฉ้อโกงว่าความผิดฐานฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 นั้น ต้องมีการเอาความเท็จมากล่าวหรือแสดงข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งแต่ความปรากฏว่าขณะจำเลยพูดเอาเงินจากผู้เสียหายไปนั้น จำเลยได้บอกผู้เสียหายว่าเพื่อนำเงินไปซื้อเบี้ยเลี้ยงตำรวจ การที่จำเลยยืมเงินไปซื้อเบี้ยเลี้ยงตำรวจจึงเป็นเรื่องที่จำเลยรับจะไปทำกิจการอย่างหนึ่งในการใช้เงินที่ยืมไปนั้นเพื่อกิจการของจำเลยเองในโอกาสข้างหน้า จึงเป็นเรื่องที่จำเลยให้คำมั่นสัญญาแก่ผู้เสียหายถึงผลงานที่จำเลยจะไปกระทำจำเลยมิได้เอาความเท็จมากล่าวหรือแสดงข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปิดความจริงซึ่งมีอยู่แล้วในขณะนั้นแก่ผู้เสียหาย เมื่อจำเลยไม่เอาเงินที่ยืมไปนั้นไปซื้อเบี้ยเลี้ยงตำรวจ จึงเป็นเรื่องที่จำเลยผิดคำมั่นสัญญาที่ได้บอกแก่ผู้เสียหายไว้เท่านั้น การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดฐานฉ้อโกง

พิพากษายืนโดยผล ให้ยกฟ้องโจทก์

สรุป

ผู้เสียหายได้ยื่นฟ้องจำเลยฐานฉ้อโกงไว้แล้ว ต่อมาพนักงานอัยการได้ยื่นฟ้องจำเลยด้วยเรื่องเดียวกันนั้นเป็นคดีใหม่ ผู้เสียหายจึงถอนฟ้องคดีที่ผู้เสียหายได้ฟ้องไว้แล้วขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ในคดีที่พนักงานอัยการฟ้อง เห็นได้ว่าการที่ผู้เสียหายถอนฟ้องดังกล่าวก็เพื่อจะขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ในคดีที่พนักงานอัยการได้ยื่นฟ้องจำเลยนั่นเอง มิใช่เป็นการถอนฟ้องเด็ดขาดตามความหมายในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 36 พนักงานอัยการจึงยังมีอำนาจฟ้องจำเลยและสิทธินำคดีอาญามาฟ้องของผู้เสียหายจึงไม่ระงับไป จึงมีสิทธิขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการ

จำเลยเอาเงินของผู้เสียหายไป อ้างว่าเพื่อนำไปซื้อเบี้ยเลี้ยงตำรวจและจะให้ผลประโยชน์แก่ผู้เสียหาย เป็นเรื่องที่จำเลยยืมเงินไปโดยให้คำมั่นสัญญาว่าจะใช้เงินนั้นเพื่อกิจการของจำเลยเองในโอกาสข้างหน้า มิได้เอาความเท็จมากล่าวหรือแสดงข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปิดความจริงซึ่งมีอยู่แล้วในขณะนั้น แม้จำเลยไม่เอาเงินนั้นไปซื้อเบี้ยเลี้ยงตำรวจ ก็เป็นเรื่องผิดคำมั่นสัญญาเท่านั้น ไม่เป็นความผิดฐานฉ้อโกง

สำนักงานกฎหมายปรัชญาเศรษฐ์ทนายความ Copyright © 2021. All rights reserved.