ฉ้อโกงโดยแสดงตนเป็นบุคคลอื่น ศาลฎีกาวางหลักไว้อย่างไร

ฉ้อโกงโดยแสดงตนเป็นบุคคลอื่น ศาลฎีกาวางหลักไว้อย่างไร

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสี่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 83, 92, 341, 342, 343 ริบโทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลาง ให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันคืนเงิน 479,700 บาท แก่ผู้เสียหาย เพิ่มโทษจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 หนึ่งในสามตามกฎหมาย

จำเลยทั้งสี่ให้การรับสารภาพในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 และมาตรา 342 แต่ให้การปฏิเสธในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343 และจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้เพิ่มโทษ

ระหว่างพิจารณา นายภัทรชัย ผู้เสียหายขอถอนคำร้องทุกข์ไม่ติดใจดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 1 ในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 และ 342 ศาลชั้นต้นอนุญาตและจำหน่ายคดีสำหรับจำเลยที่ 1 เฉพาะข้อหาทั้งสองดังกล่าวออกจากสารบบความ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสี่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343 วรรคสอง ประกอบมาตรา 341, 342 (1), 83 เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานร่วมกันฉ้อโกงประชาชนโดยแสดงตนเป็นบุคคลอื่นซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกคนละ 5 ปี เพิ่มโทษจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 92 เป็นจำคุกจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 คนละ 6 ปี 8 เดือน คำให้การของจำเลยทั้งสี่เป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้าง มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้คนละหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 คนละ 4 ปี 5 เดือน 10 วัน จำคุกจำเลยที่ 3 มีกำหนด 3 ปี 4 เดือน ริบของกลาง ให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันคืนเงิน 329,697 บาท แก่ผู้เสียหาย

จำเลยทั้งสี่อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343 วรรคสอง ประกอบมาตรา 342 (1), 83 จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 342 (1), 343 วรรคสอง ประกอบมาตรา 342 (1), 83 การกระทำของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานร่วมกันฉ้อโกงประชาชนโดยแสดงตนเป็นบุคคลอื่นซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ส่วนโทษของจำเลยทั้งสี่และนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่ได้โต้เถียงกันในชั้นฎีการับฟังเป็นยุติว่า เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2561 เวลาประมาณ 7 นาฬิกา ถึง 15.30 นาฬิกา จำเลยทั้งสี่กับพวกที่ยังไม่ได้ตัวมาฟ้อง ร่วมกันหลอกลวงผู้เสียหายด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จโดยแสดงตนเป็นเจ้าหน้าที่บริษัทไปรษณีย์ไทยและเจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจภูธรเมืองลำปาง หลอกลวงผู้เสียหายว่ามีพัสดุไปรษณีย์ภายในบรรจุยาเสพติดซึ่งมีชื่อผู้เสียหายเป็นผู้นำส่ง ทำให้ผู้เสียหายต้องถูกดำเนินคดีและศาลได้ออกหมายจับ อายัดทรัพย์สินของผู้เสียหายไว้แล้วจะขอตรวจสอบ เป็นเหตุให้ผู้เสียหายหลงเชื่อว่าเป็นความจริงจึงเปิดบัญชีธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หมายเลขบัญชี 335-234xxx-x และทำบัตรเอทีเอ็ม บอกเลขบัตรเอทีเอ็ม รหัสบัตรเอทีเอ็มแก่จำเลยทั้งสี่กับพวก จากนั้นผู้เสียหายโอนเงินเข้าบัญชีธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ดังกล่าว 100,000 บาท กับฝากเงินสด 329,700 บาท เข้าบัญชีธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หมายเลขบัญชี 271-203xxx-x ชื่อบัญชี นายกลินทร์ แล้วจำเลยทั้งสี่กับพวกถอนเงินของผู้เสียหายออกจากทั้งสองบัญชีดังกล่าวโดยใช้เลขบัตรเอทีเอ็มและรหัสบัตรเอทีเอ็มที่ใช้อุบายหลอกลวงมาไปเป็นประโยชน์ส่วนตนโดยทุจริต ผู้เสียหายได้รับความเสียหายคิดเป็นเงิน 479,697 บาท สำหรับข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 และมาตรา 342 ผู้เสียหายถอนคำร้องทุกข์จำเลยที่ 1 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาต และจำหน่ายคดีเฉพาะความผิดตามข้อหาดังกล่าวออกจากสารบบความแล้ว ส่วนคดีสำหรับจำเลยที่ 3 ยุติไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1

มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 กระทำความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงประชาชนโดยแสดงตนเป็นบุคคลอื่นตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่า ข้อเท็จจริงที่จำเลยที่ 2 และที่ 4 อ้างดังกล่าวเป็นข้อเท็จจริงซึ่งขัดกับคำให้การรับสารภาพของจำเลยที่ 2 และที่ 4 ที่รับว่าจำเลยที่ 2 และที่ 4 ร่วมกับพวกฉ้อโกงผู้เสียหายโดยแสดงตนเป็นบุคคลอื่น จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 1 ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง และมาตรา 252 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ส่วนที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ฎีกาว่า ตามรายงานการสืบสวนและพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมาไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าจำเลยทั้งสี่กับพวกมีการสุ่มหมายเลขโทรศัพท์ของผู้เสียหายจากระบบคอมพิวเตอร์แล้วโทรศัพท์ไปยังผู้เสียหาย และระบบ VOIP ซึ่งเป็นระบบโทรศัพท์ที่มีการใช้เครือข่ายอินเทอร์เน็ตในการติดต่อสื่อสารก็ไม่สามารถสุ่มหมายเลขโทรศัพท์ของผู้อื่นได้ พยานหลักฐานของโจทก์ที่นำสืบมาจึงรับฟังไม่ได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ร่วมกับพวกกระทำความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนโดยแสดงตนเป็นบุคคลอื่นนั้น เห็นว่า การกระทำอันจะเป็นความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343 นั้น ถือเอาเจตนาแสดงข้อความอันเป็นเท็จต่อประชาชนเป็นสำคัญ โดยจะพิจารณาจากวิธีการในการหลอกลวง และคำว่า “ประชาชน” หมายถึงบุคคลทั่วไป ไม่จำกัดตัวบุคคลว่าเป็นผู้ใด คดีนี้แม้โจทก์ไม่มีพยานรู้เห็นเหตุการณ์ที่กลุ่มคนร้ายโทรศัพท์มาหลอกลวงผู้เสียหายด้วยวิธีการใดและอย่างไรก็ตาม แต่โจทก์มีร้อยตำรวจเอกปองคุณ เจ้าหน้าที่ฝ่ายสืบสวนของศูนย์ป้องกันและปราบปรามการฉ้อโกงประชาชนผ่านระบบโทรศัพท์และสื่ออิเล็กทรอนิกส์ซึ่งเป็นผู้ร่วมจับกุมจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 เป็นพยานเบิกความยืนยันว่า จากการสืบสวนทราบว่าจำเลยทั้งสี่กับพวกเป็นแก๊ง Call Center ที่ร่วมกันฉ้อโกงประชาชนโดยแบ่งหน้าที่กันทำ มีผู้บริหารคอยควบคุมซึ่งเรียกว่าบ้านอยู่ในต่างประเทศสำหรับไว้โทรศัพท์หลอกลวงประชาชนที่อยู่ในประเทศผ่านระบบโทรศัพท์ VOIP คือ การโทรศัพท์ด้วยอินเทอร์เน็ตเข้ามายังระบบโทรศัพท์พื้นฐานของประเทศไทย โดยมักจะหลอกลวงผู้เสียหายแต่ละรายว่ามีความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด คดีฟอกเงิน หรือความผิดฐานอื่น ขอให้แจ้งเลขบัญชีธนาคาร หมายเลขบัตรประจำตัวประชาชน บัตรอิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ เพื่อตรวจสอบ โดยในคดีนี้มีนายราชศักดิ์ เป็นผู้ควบคุมบ้าน ซึ่งพยานโจทก์ดังกล่าวเป็นเจ้าพนักงานของรัฐปฏิบัติการไปตามหน้าที่ ไม่ได้มีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 มาก่อน เชื่อว่าพยานโจทก์ดังกล่าวเบิกความไปตามความจริง คำเบิกความของพยานจึงมีน้ำหนักให้รับฟัง ซึ่งเมื่อพิจารณาพฤติการณ์ในการกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 กับพวกตามคำเบิกความของร้อยตำรวจเอกปองคุณดังกล่าวประกอบกับข้อเท็จจริงที่ได้ความตามคำเบิกความของผู้เสียหายว่า ผู้เสียหายไม่เคยรู้จักกับจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 มาก่อน แต่การที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 กับพวกสามารถโทรศัพท์ติดต่อไปยังหมายเลขโทรศัพท์เคลื่อนที่ของผู้เสียหายได้ จึงมีเหตุสนับสนุนให้รับฟังได้ว่าเป็นการสุ่มโทรศัพท์ไปยังหมายเลขโทรศัพท์ของประชาชนทั่วไปที่ปรากฏข้อมูลอยู่ในระบบคอมพิวเตอร์ของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 กับพวกซึ่งมีผู้เสียหายรวมอยู่ด้วยนั่นเอง ส่วนที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ฎีกาอ้างว่า ระบบ VOIP ไม่สามารถสุ่มหมายเลขโทรศัพท์ของผู้อื่นได้นั้นเป็นการกล่าวอ้างข้อเท็จจริงแต่เพียงลอย ๆ โดยในชั้นพิจารณาจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ก็ไม่ได้นำพยานหลักฐานใดมานำสืบสนันสนุนให้รับฟังว่าเป็นจริงดังที่อ้าง จึงไม่มีน้ำหนักให้รับฟังหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ตามที่พิจารณาได้ความข้างต้นได้ นอกจากนี้ยังได้ความจากคำเบิกความของร้อยตำรวจเอกปองคุณ รายงานการสืบสวนและบันทึกคำให้การของนายกลินทร์ด้วยว่า จากการสืบสวนของร้อยตำรวจเอกปองคุณทราบว่านอกจากผู้เสียหายในคดีนี้แล้ว ยังมีนายกลินทร์ ซึ่งเป็นผู้เสียหายอีกคดีหนึ่งที่ถูกแก๊ง Call Center โทรศัพท์มาใช้อุบายหลอกลวงโดยอ้างตัวว่าเป็นเจ้าหน้าที่บริษัทไปรษณีย์ไทยและเจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจภูธรเมืองลำปาง และแสดงข้อความอันเป็นเท็จว่ามีพัสดุไปรษณีย์ซึ่งภายในบรรจุยาเสพติดส่งถึงนายกลินทร์ นายกลินทร์จึงมีส่วนเกี่ยวข้องกับการค้ายาเสพติด แล้วอ้างว่าจะช่วยเหลือนายกลินทร์ โดยให้นายกลินทร์โอนเงินให้ 600,000 บาท ซึ่งเป็นวิธีการหลอกลวงในลักษณะเดียวกันกับผู้เสียหายในคดีนี้ โดยเป็นเหตุที่เกิดขึ้นในท้องที่ของสถานีตำรวจนครบาลเตาปูน จากพฤติการณ์ดังกล่าวที่มีการหลอกลวงผู้เสียหายด้วยวิธีการในลักษณะเดียวกัน โดยกระทำต่อผู้เสียหายต่างรายในต่างพื้นที่กัน จึงฟังได้ว่าเป็นการหลอกลวงบุคคลทั่วไป มิได้มุ่งหมายเจาะจงหลอกลวงคนใดคนหนึ่งเป็นพิเศษหรือมุ่งหลอกลวงเฉพาะแต่ผู้เสียหายเท่านั้น การกระทำของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 จึงเป็นความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงประชาชนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343 วรรคสอง ประกอบมาตรา 83 แล้ว ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ในความผิดฐานดังกล่าวมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฏีกาของจำเลยที่ 1 ข้อสุดท้ายมีว่า มีเหตุสมควรลงโทษจำเลยที่ 1 สถานเบาหรือไม่ เห็นว่า จำเลยที่ 1 กับพวกร่วมกันหลอกลวงผู้เสียหายได้เงินไปทั้งสิ้น 479,697 บาท ซึ่งเป็นจำนวนเงินค่อนข้างมาก โดยจำเลยที่ 1 กับพวกร่วมกันกระทำความผิดในลักษณะที่เป็นขบวนการหลอกลวงประชาชนโดยทั่วไป สร้างความเดือดร้อนแก่สุจริตชนในวงกว้างและก่อให้เกิดความเสียหายจำนวนมาก เป็นภัยต่อเศรษฐกิจของประเทศและความสงบสุขของสังคมส่วนรวม พฤติการณ์แห่งคดีจึงเป็นเรื่องร้ายแรง แม้จำเลยที่ 1 จะชดใช้ค่าเสียหายแก่ผู้เสียหายจำนวน 100,000 บาท ก็เป็นจำนวนเล็กน้อยเมื่อเทียบกับความเสียหายที่เกิดขึ้น ทั้งจำเลยที่ 1 มีหน้าที่ต้องชดใช้ค่าเสียหายดังกล่าวคืนให้แก่ผู้เสียหายอยู่แล้ว ประกอบกับเพื่อเป็นการป้องปรามมิให้จำเลยที่ 1 กับพวกกระทำผิดซ้ำอีก และเพื่อมิให้เป็นเยี่ยงอย่างแก่ผู้ที่คิดจะกระทำผิดในลักษณะเช่นเดียวกันกับจำเลยที่ 1 กับพวก จึงเห็นสมควรลงโทษสถานหนัก และโทษจำคุกที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดมานั้นเหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งคดีแล้ว ไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะเปลี่ยนแปลงแก้ไข ฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน

อนึ่ง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาว่า จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 342 (1), 343 วรรคสอง ประกอบมาตรา 342 (1) และมาตรา 83 การกระทำของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามมาตรา 343 วรรคสอง ประกอบมาตรา 342 (1) และมาตรา 83 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 นั้น ไม่ถูกต้อง เพราะความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงประชาชนโดยแสดงตนเป็นบุคคลอื่น ซึ่งกฎหมายได้บัญญัติให้เป็นเหตุให้ต้องรับโทษหนักขึ้นไว้ในมาตรา 343 วรรคสองนั้น เป็นการลำดับการลงโทษเป็นชั้น ๆ ไปตามลักษณะฉกรรจ์ของความผิดที่กระทำ มิใช่เป็นการกระทำความผิดหลายบทตามมาตรา 90 แต่อย่างใด แต่เป็นการกระทำความผิดบทฉกรรจ์บทเดียว จึงเห็นสมควรแก้ไขเสียให้ถูกต้อง ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสี่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343 วรรคสอง ประกอบมาตรา 342 (1) และมาตรา 83 ส่วนโทษของจำเลยทั้งสี่และนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1

สำนักงานกฎหมายปรัชญาเศรษฐ์ทนายความ Copyright © 2021. All rights reserved.