ฎีกาใหม่ ท้องที่ที่มีการส่งมอบเงิน ถือเป็นสถานที่มูคดีเกิดในคดีฉ้อโกงหรือไม่

ฎีกาใหม่ ท้องที่ที่มีการส่งมอบเงิน ถือเป็นสถานที่มูคดีเกิดในคดีฉ้อโกงหรือไม่

โจทก์ฟ้องและแก้ไขฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341, 83 กับให้คืนเงิน 11,475,520 บาทแก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับจากวันที่จำเลยทั้งสองรับเงินไปจากโจทก์จนกว่าจะชำระเสร็จ และนับโทษจำเลยที่ 2 ต่อจากโทษของจำเลยที่ 2 ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2894 (ที่ถูก 2895) และ 2896/2560 ของศาลจังหวัดแม่สอด

ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่า คดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง

จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ แต่จำเลยที่ 2 รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์อ้างเป็นเหตุขอให้นับโทษต่อ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 ประกอบมาตรา 83 ปรับจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 30,000 บาท จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 2 ปี หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนเงิน 11,475,520 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 10 มีนาคม 2560) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ ยกคำขอให้นับโทษต่อเนื่องจากคดีดังกล่าวศาลอุทธรณ์ ภาค 6 พิพากษายกฟ้อง

จำเลยทั้งสองอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 (เดิม) ประกอบมาตรา 83 ปรับจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 6,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

จำเลยทั้งสองฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้แย้งกันในชั้นนี้รับฟังเป็นยุติได้ว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด มีจำเลยที่ 2 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทน เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2559 โจทก์โดยนายไพโรจน์ หุ้นส่วนผู้จัดการขณะนั้น มีหนังสือถึงจำเลยที่ 1 แจ้งความประสงค์ซื้อน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์จากจำเลยที่ 1 วันที่ 21 สิงหาคม 2559 โจทก์ทำสัญญาซื้อขายน้ำตาลทรายขาวกับจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 กรรมการผู้จัดการ เป็นการซื้อขายน้ำตาลทราย ICUMSA 45 ปีการผลิต 58/59 จำนวน 10,000 ตัน ราคาตันละ 470 ดอลล่าสหรัฐอเมริกา รวมเป็นเงิน 4,700,000 ดอลล่าสหรัฐอเมริกา รายการคุณลักษณะเฉพาะระบุว่า เป็นน้ำตาลที่ผลิตภายในประเทศไทย วันที่ 23 สิงหาคม 2559 นางนิตยา ภริยานายไพโรจน์ถอนเงิน 11,475,520 บาท จากบัญชีเงินฝากที่ธนาคาร ก. เชียงของ จังหวัดเชียงราย แล้วโอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากของจำเลยที่ 1 ที่ธนาคาร ส. สวนหลวง จำเลยที่ 1 ได้รับเงินจำนวนดังกล่าวแล้วออกใบเสร็จรับเงินที่จำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อและประทับสำคัญของจำเลยที่ 1 เป็นผู้รับเงินมอบให้แก่โจทก์ วันที่ 18 พฤศจิกายน 2559 โจทก์ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนกองกำกับการ 1 กองบังคับการปราบปราม ให้ดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสอง ฐานร่วมกันฉ้อโกง

คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองประการแรกว่า ความผิดเกิดขึ้นในเขตอำนาจของศาลชั้นต้นหรือไม่ เห็นว่า ปัญหาที่ว่าความผิดเกิดขึ้นในเขตอำนาจของศาลชั้นต้นซึ่งศาลชั้นต้นมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนี้หรือไม่ เป็นเรื่องอำนาจฟ้องอันเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยทั้งสองไม่ได้ให้การต่อสู้และยกขึ้นว่ากล่าวในศาลชั้นต้นและชั้นอุทธรณ์ จำเลยทั้งสองก็มีสิทธิฎีกาในปัญหาข้อนี้ได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง และมาตรา 225 ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499 มาตรา 4 และพระราชบัญญัติให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ. 2520 มาตรา 3 อีกทั้งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499 ไม่มีบทบัญญัติเรื่องอำนาจศาล จึงต้องนำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 22 มาใช้บังคับแก่คดีนี้ ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499 มาตรา 4 ประกอบพระราชบัญญัติให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ. 2520 มาตรา 3 โดยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 22 บัญญัติว่า “เมื่อความผิดเกิดขึ้น อ้างหรือเชื่อว่าได้เกิดขึ้นในเขตอำนาจของศาลใด ให้ชำระที่ศาลนั้น…” และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 บัญญัติว่า “ผู้ใดโดยทุจริต หลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งและโดยการหลอกลวงดังว่านั้นได้ไปซึ่งทรัพย์สินของผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม…ผู้นั้นกระทำความผิดฐานฉ้อโกง…” แสดงว่า การกระทำความผิดฐานฉ้อโกงจะสำเร็จลงเมื่อผู้กระทำความผิดได้ไปซึ่งทรัพย์สินของผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม ดังนั้น ท้องที่ที่มีการมอบเงินให้แก่ผู้กระทำความผิดย่อมเป็นส่วนหนึ่งของการกระทำความผิด และถือว่าผู้กระทำความผิดได้กระทำความผิดฐานฉ้อโกงลงในท้องที่ดังกล่าวต่อเนื่องกับการกระทำความผิดในท้องที่ที่มีการหลอกลวงด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง ข้อเท็จจริงได้ความว่า วันที่ 23 สิงหาคม 2559 นางนิตยา ภริยานายไพโรจน์โอนเงิน 11,475,520 บาท ที่ธนาคาร ก. เชียงของ จังหวัดเชียงราย เข้าบัญชีเงินฝากของจำเลยที่ 1 ที่ธนาคาร ส. สวนหลวง จำเลยที่ 1 ได้รับเงินจำนวนดังกล่าวแล้วออกใบเสร็จรับเงินที่จำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อและประทับตราสำคัญของจำเลยที่ 1 เป็นผู้รับเงินมอบให้แก่โจทก์ ถือได้ว่า สถานที่นางนิตยา ภริยานายไพโรจน์ซึ่งเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของโจทก์โอนเงินที่ธนาคาร ก. เชียงของ ที่ทำให้จำเลยที่ 1 ได้ทรัพย์เป็นเงินจากโจทก์ เป็นส่วนหนึ่งของการกระทำความผิดต่อเนื่องกับการหลอกลวงโจทก์ด้วย ดังนั้น ศาลชั้นต้นซึ่งมีเขตอำนาจครอบคลุมอำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย ย่อมมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนี้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 22 ฎีกาข้อนี้ของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น

อนึ่ง เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2564 ได้มีพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ. 2564 มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 เป็นต้นมาโดยมาตรา 3 และมาตรา 4 ให้ยกเลิกความในมาตรา 7 และมาตรา 224 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ตามลำดับ แล้วให้ใช้ข้อความใหม่แทน โดยข้อความใหม่บัญญัติให้คิดดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดตามอัตราที่กำหนดไว้ในมาตรา 7 คือ ร้อยละ 3 ต่อปี หรืออัตราที่ปรับเปลี่ยนให้ลดลงหรือเพิ่มขึ้นโดยพระราชกฤษฎีกา บวกด้วยอัตราเพิ่มร้อยละ 2 ต่อปี และมาตรา 7 แห่งพระราชกำหนดฉบับดังกล่าว บัญญัติให้ใช้แก่การคิดดอกเบี้ยผิดนัดที่ถึงกำหนดชำระตั้งแต่วันที่พระราชกำหนดฉบับดังกล่าวใช้บังคับ แต่ไม่กระทบกระเทือนถึงการคิดดอกเบี้ยระหว่างผิดนัดในช่วงเวลาก่อนที่พระราชฉบับดังกล่าว แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดหยิบยกปัญหาข้อนี้ขึ้นกล่าวอ้างในชั้นฎีกา แต่ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้เอง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 252 โจทก์จึงมีสิทธิได้รับดอกเบี้ยระหว่างผิดนัด นับแต่วันฟ้องถึงวันที่ 10 เมษายน 2564 และอัตราร้อยละ 3 ต่อปี บวกเพิ่มร้อยละ 2 ต่อปี เป็นร้อยละ 5 ต่อปี หรืออัตราที่จะปรับเปลี่ยนให้ลดลงหรือเพิ่มขึ้นโดยพระราชกฤษฎีกาที่ออกตามความในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 7 (ที่แก้ไขใหม่) บวกเพิ่มร้อยละ 2 ต่อปี แต่ต้องไม่เกินอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 10 มีนาคม 2560) ถึงวันที่ 10 เมษายน 2564 อัตราร้อยละ 5 ต่อปี หรืออัตราที่จะปรับเปลี่ยนให้ลดลงหรือเพิ่มขึ้นโดยพระราชกฤษฎีกาที่ออกตามความในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 7 (ที่แก้ไขใหม่) บวกเพิ่มร้อยละ 2 ต่อปี แต่ต้องไม่เกินอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5

สรุป

ปัญหาว่าความผิดเกิดขึ้นในเขตอำนาจของศาลชั้นต้นซึ่งศาลชั้นต้นมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีหรือไม่ เป็นเรื่องอำนาจฟ้องอันเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยทั้งสองไม่ได้ให้การต่อสู้และยกขึ้นว่ากล่าวในศาลชั้นต้นและชั้นอุทธรณ์ จำเลยทั้งสองก็มีสิทธิฎีกาในปัญหาข้อนี้ได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง และมาตรา 225 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499 มาตรา 4 และ พ.ร.บ.ให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ. 2520 มาตรา 3 พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499 ไม่มีบทบัญญัติเรื่องอำนาจศาล จึงต้องนำ ป.วิ.อ. มาตรา 22 มาใช้บังคับแก่คดีนี้ ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499 มาตรา 4 ประกอบ พ.ร.บ.ให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ. 2520 มาตรา 3 โดย ป.วิ.อ. มาตรา 22 บัญญัติว่า “เมื่อความผิดเกิดขึ้น อ้างหรือเชื่อว่าได้เกิดขึ้นในเขตอำนาจของศาลใด ให้ชำระที่ศาลนั้น…” และ ป.อ. มาตรา 341 บัญญัติว่า “ผู้ใดโดยทุจริต หลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งและโดยการหลอกลวงดังว่านั้นได้ไปซึ่งทรัพย์สินของผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม…ผู้นั้นกระทำความผิดฐานฉ้อโกง…” แสดงว่า การกระทำความผิดฐานฉ้อโกงจะสำเร็จลงเมื่อผู้กระทำความผิดได้ไปซึ่งทรัพย์สินของผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม ดังนั้น ท้องที่ที่มีการมอบเงินให้แก่ผู้กระทำความผิดย่อมเป็นส่วนหนึ่งของการกระทำความผิด และถือว่าผู้กระทำความผิดได้กระทำความผิดฐานฉ้อโกงลงในท้องที่ดังกล่าวต่อเนื่องกับการกระทำความผิดในท้องที่ที่มีการหลอกลวงด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง การที่ น. ภริยา พ. โอนเงิน 11,475,520 บาท ที่ธนาคาร ก. เชียงของ จังหวัดเชียงราย เข้าบัญชีเงินฝากของจำเลยที่ 1 ที่ธนาคาร ส. สวนหลวง จำเลยที่ 1 ได้รับเงินจำนวนดังกล่าวแล้วออกใบเสร็จรับเงินที่จำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อและประทับตราสำคัญของจำเลยที่ 1 เป็นผู้รับเงินมอบให้แก่โจทก์ ถือได้ว่า สถานที่ น. ภริยา พ. ซึ่งเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของโจทก์โอนเงินที่ธนาคาร ก. เชียงของ ที่ทำให้จำเลยที่ 1 ได้ทรัพย์เป็นเงินจากโจทก์ เป็นส่วนหนึ่งของการกระทำความผิดต่อเนื่องกับการหลอกลวงโจทก์ด้วย ดังนั้น ศาลชั้นต้นซึ่งมีเขตอำนาจครอบคลุมอำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย ย่อมมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนี้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 22

สำนักงานกฎหมายปรัชญาเศรษฐ์ทนายความ Copyright © 2021. All rights reserved.