ดูหมิ่นผู้พิพากษาในการพิจารณาคดี มีได้หรือไม่มีความผิดอย่างไร

ดูหมิ่นผู้พิพากษาในการพิจารณาคดี มีได้หรือไม่มีความผิดอย่างไร

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 175, 198

จำเลยให้การปฏิเสธ

ระหว่างพิจารณานายเวสารัช ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต

โจทก์ร่วมยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นเงิน 10,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่จำเลยกระทำความผิดเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ร่วม

จำเลยให้การในส่วนแพ่งขอให้ยกคำร้องของโจทก์ร่วม

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 175 (เดิม) และมาตรา 198 (เดิม) เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 198 (เดิม) ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 2 ปี กับให้จำเลยชำระเงิน 300,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันที่ 20 กันยายน 2559 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ร่วม ค่าฤชาธรรมเนียมในส่วนคดีแพ่งให้เป็นพับ

โจทก์ร่วมและจำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องจำเลยในความผิดฐานฟ้องเท็จ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 175 (เดิม) ส่วนความผิดฐานดูหมิ่นผู้พิพากษาในการพิจารณาหรือพิพากษาคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 198 (เดิม) ให้จำคุก 1 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ

โจทก์ร่วมและจำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้จำเลยฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังเป็นยุติโดยคู่ความมิได้ฎีกาโต้แย้งว่า จำเลยเป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายวีระศักดิ์ เป็นจำเลยในฐานความผิดต่อเจ้าพนักงานในการยุติธรรมและฐานโกงเจ้าหนี้ต่อศาลแขวงพระนครเหนือเป็นคดีอาญาหมายเลขดำที่ 6543/2558 โจทก์ร่วมซึ่งเป็นผู้พิพากษาผู้พิจารณาคดีดังกล่าวมีคำสั่งงดไต่สวนมูลฟ้องแล้วมีคำพิพากษายกฟ้อง โดยวินิจฉัยว่าฟ้องของจำเลยไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) จำเลยอุทธรณ์คำพิพากษา ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ต่อมาจำเลยยื่นฎีกาพร้อมคำร้องขอให้รับรองฎีกา โจทก์ร่วมและผู้พิพากษาที่ลงชื่อในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ไม่อนุญาตให้จำเลยฎีกา โจทก์ร่วมจึงมีคำสั่งไม่รับฎีกา จำเลยยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่รับฎีกา ต่อมาศาลฎีกามีคำสั่งยกคำร้องโดยวินิจฉัยว่า คำร้องอุทธรณ์คำสั่งของจำเลยไม่ชัดแจ้ง ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 224 วรรคหนึ่ง ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499 มาตรา 4 ศาลฎีกาไม่อาจวินิจฉัยให้ได้ ให้ยกคำร้อง จำเลยยื่นฎีกาคำสั่งศาลฎีกา โจทก์ร่วมมีคำสั่งว่า ศาลมีคำสั่งไม่รับฎีกาเนื่องจากเป็นฎีกาที่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 220 ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499 มาตรา 4 ต่อมาจำเลยยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่รับฎีกา ศาลฎีกามีคำสั่งให้ยกคำร้อง คดีจึงถึงที่สุดแล้ว จำเลยไม่อาจยื่นฎีกาได้อีก ไม่รับฎีกาของจำเลย จำเลยจึงฟ้องโจทก์ร่วมต่อศาลชั้นต้นกล่าวหาว่าโจทก์ร่วมปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ต่อมาศาลชั้นต้นได้โอนคดีให้ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางเป็นคดีหมายเลขดำที่ อท.(ผ) 13/2559 ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางมีคำพิพากษายกฟ้อง จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน โจทก์ร่วมมอบอำนาจให้สำนักงานศาลยุติธรรมแจ้งความดำเนินคดีแก่จำเลย ชั้นสอบสวนพนักงานสอบสวนแจ้งข้อกล่าวหาแก่จำเลยแล้ว จำเลยให้การปฏิเสธ

คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ร่วมว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานฟ้องเท็จหรือไม่ เห็นว่า ความผิดฐานฟ้องเท็จตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 175 องค์ประกอบความผิดคือ การเอาความอันเป็นเท็จฟ้องผู้อื่นต่อศาลว่ากระทำความผิดอาญา หรือว่ากระทำความผิดอาญาแรงกว่าที่เป็นความจริง เจตนาในการกระทำความผิดฐานนี้จึงอยู่ที่ผู้กระทำต้องรู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบความผิดว่าข้อความที่ฟ้องนั้นเป็นความเท็จ ตามคำฟ้องในคดีหมายเลขดำที่ อท.(ผ) 13/2559 ของศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ซึ่งจำเลยฟ้องโจทก์ร่วม จำเลยบรรยายฟ้องในข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นตามกระบวนพิจารณา ซึ่งรวมทั้งได้คัดใจความที่โจทก์ร่วมในฐานะผู้พิพากษามีคำสั่งในสำนวนความคดีอาญาหมายเลขดำที่ 6543/2558 ของศาลแขวงพระนครเหนือ ตรงตามความเป็นจริง แต่จำเลยไม่เห็นด้วยกับคำสั่งของโจทก์ร่วมในปัญหาข้อกฎหมายว่าการออกคำสั่งงดไต่สวนมูลฟ้องและมีคำพิพากษายกฟ้อง รวมทั้งคำสั่งไม่รับฎีกาของโจทก์ร่วมเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบจึงเป็นการระบุบทกฎหมายในฐานความผิดจากข้อเท็จจริงตามฟ้อง ข้อความดังกล่าวจึงมิใช่เป็นการยืนยันข้อเท็จจริงให้แตกต่างจากความเป็นจริงที่เกิดขึ้นตามกระบวนพิจารณาในคดีดังกล่าว แต่เป็นการยืนยันความเห็นที่แตกต่างในข้อกฎหมายตามความเข้าใจของจำเลย ซึ่งไม่อาจถือว่าเป็นความเท็จ การฟ้องคดีอาญาของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 175 ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่าฟ้องของจำเลยไม่เป็นฟ้องเท็จนั้นชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ร่วมในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

ปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปตามฎีกาของจำเลยและโจทก์ร่วมว่า จำเลยมีความผิดฐานดูหมิ่นผู้พิพากษาในการพิจารณาหรือพิพากษาคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 198 (เดิม) ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ และต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ร่วมเพียงใด ในปัญหาตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 198 หรือไม่นั้น เห็นว่า การที่จำเลยฟ้องโจทก์ร่วมแม้ตามปกติถือว่าเป็นการใช้สิทธิทางศาลอันเป็นสิทธิที่ได้รับการรับรองและบังคับตามกฎหมาย การใช้สิทธิเช่นนี้ย่อมไม่เป็นการผิดกฎหมายอย่างใดเว้นแต่จำเลยจะกระทำโดยไม่สุจริต จงใจให้โจทก์ร่วมได้รับความเสียหายโดยใช้ศาลเป็นช่องทางในการดำเนินคดี เมื่อพิเคราะห์ข้อเท็จจริงตามคดีอาญาหมายเลขดำที่ 6543/2558 ของศาลแขวงพระนครเหนือที่โจทก์ร่วมเป็นผู้พิจารณามีคำสั่ง ต่อมาศาลอุทธรณ์ได้มีคำสั่งยืนตามคำสั่งศาลชั้นต้นให้ยกฟ้อง ย่อมเป็นการยืนยันถึงการใช้ดุลพินิจในการปฏิบัติหน้าที่ของโจทก์ร่วมว่าเป็นการมีคำสั่งภายในขอบอำนาจตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ มิใช่เป็นการสั่งโดยไม่มีเหตุผลรองรับตามกฎหมายที่จะถือว่าเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ จำเลยซึ่งเป็นคู่ความในคดีและมีความรู้ทางกฎหมายพอสมควรย่อมทราบและเข้าใจถึงการดำเนินกระบวนพิจารณาดังกล่าวดีอยู่ว่าโจทก์ร่วมใช้ดุลพินิจมีคำสั่งในคดีตามบทบัญญัติของกฎหมายมิใช่เป็นการมีคำสั่งโดยอคติและไม่ยุติธรรมแก่จำเลย แต่จำเลยกลับนำคดีมาฟ้องกล่าวหาโจทก์ร่วมว่า การที่โจทก์ร่วมมีคำสั่งงดไต่สวนมูลฟ้องและพิพากษายกฟ้องโจทก์เป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 นับว่าเป็นเรื่องร้ายแรง กรณีเช่นนี้แม้จำเลยมิได้กล่าวก้าวล่วงโจทก์ร่วมมาในคำฟ้อง แต่การกระทำดังกล่าวเป็นการกล่าวหาว่าโจทก์ร่วมมีเจตนากระทำโดยมิชอบด้วยหน้าที่และข้อกล่าวหาในฟ้องย่อมมีความหมายอยู่ในตัวว่า การใช้ดุลพินิจของโจทก์ร่วมไม่ได้อยู่บนพื้นฐานของความชอบด้วยกฎหมาย อันเป็นการบั่นทอนและลดคุณค่าในการพิจารณาพิพากษาคดีในหน้าที่ผู้พิพากษาของโจทก์ร่วม ทั้งทำให้ประชาชนทั่วไปซึ่งมิได้รู้ข้อเท็จจริงในเชิงลึกของคดี ขาดความเชื่อมั่นหรือเชื่อถือต่อกระบวนการยุติธรรมของศาลยุติธรรม ที่จำเลยอ้างว่าเป็นการใช้สิทธิทางศาลและได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญนั้น เป็นเหตุผลที่ไม่อาจรับฟังได้ เพราะการใช้สิทธิทางศาลนั้นจะต้องอยู่ภายในกรอบของกฎหมาย และต้องกระทำโดยสุจริตที่บุคคลทั่วไปพึงกระทำ เมื่อทางพิจารณาไม่ปรากฏว่าโจทก์ร่วมใช้อำนาจในทางที่มิชอบผิดไปจากที่กฎหมายให้อำนาจไว้ จึงฟังได้ว่าการฟ้องคดีของจำเลยเป็นการฟ้องแกล้งกล่าวหาโจทก์ร่วมตามอำเภอใจโดยอาศัยเหตุที่จำเลยเสียประโยชน์ในผลแห่งคดี หาใช่เป็นการใช้สิทธิทางศาลตามปกติและโดยสุจริตไม่ ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า คดีที่จำเลยฟ้องโจทก์ร่วมต่อศาลชั้นต้นตามคดีหมายเลขแดงที่ อท.(ผ) 13/2559 ของศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง คดียังไม่ถึงที่สุดจึงยังไม่ถือว่าการกระทำความผิดฐานดูหมิ่นผู้พิพากษาเป็นความผิดสำเร็จนั้น เห็นว่าการกระทำความผิดของจำเลยเกิดขึ้นเมื่อจำเลยฟ้องคดีต่อศาลหาใช่ความผิดเกิดเมื่อคดีที่ฟ้องถึงที่สุดไม่ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่าจำเลยมีความผิดฐานดูหมิ่นผู้พิพากษาในการพิจารณาหรือพิพากษาคดีมานั้นชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น

ส่วนที่โจทก์ร่วมฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยสถานหนัก และปัญหาว่าค่าสินไหมทดแทนของโจทก์ร่วมมีเพียงใดนั้น เห็นว่าศาลอุทธรณ์ใช้ดุลพินิจกำหนดโทษแก่จำเลยเหมาะสมกับพฤติการณ์แห่งรูปคดีแล้ว ส่วนค่าสินไหมทดแทนตามฎีกาของโจทก์ร่วมกล่าวอ้างว่าโจทก์ร่วมปฏิบัติหน้าที่ในฐานะผู้พิพากษาด้วยความซื่อสัตย์สุจริต การกระทำความผิดของจำเลยส่งผลให้โจทก์ร่วมต้องเสื่อมเสียชื่อเสียงแก่ตนเองและราชสกุล เห็นว่าเมื่อพิเคราะห์ถึงสถานะของการดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาของโจทก์ร่วม เกียรติในตำแหน่งหน้าที่สำคัญนี้ย่อมมีคุณค่าไม่อาจที่จะนำมาเปรียบเทียบคิดเป็นตัวเงินได้ การเยียวยาในกรณีเช่นนี้กำหนดเพียงเพื่อพอสมควรให้จำเลยตระหนักรู้ว่าได้กระทำการอันเป็นการละเมิดต่อโจทก์ร่วมให้ได้รับความเสียหายขึ้นแล้ว และจำเลยจะต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อละเมิดนั้น ดังนั้นที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ร่วมเป็นเงิน 300,000 บาท ถือว่าเหมาะสมแล้ว ไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะเปลี่ยนแก้ไข ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ร่วมฟังไม่ขึ้น

พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฏีกาให้เป็นพับ

สำนักงานกฎหมายปรัชญาเศรษฐ์ทนายความ Copyright © 2021. All rights reserved.