ถอนคำร้องทุกข์ในคดีฉ้อโกง มีผลถึงคำขอในส่วนแพ่งหรือไม่

ถอนคำร้องทุกข์ในคดีฉ้อโกง มีผลถึงคำขอในส่วนแพ่งหรือไม่

โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341, 343 พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14 พระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ.2527 มาตรา 3, 4, 5, 12 และให้จำเลยคืนเงินหรือชดใช้เงิน 253,200 บาท ที่ยังไม่ได้คืนให้แก่ผู้เสียหาย

จำเลยให้การปฏิเสธ

ระหว่างพิจารณา นางสาว ช. ผู้เสียหาย ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาตเฉพาะข้อหาฉ้อโกงประชาชน ส่วนข้อหาอื่นผู้ร้องไม่เป็นผู้เสียหายจึงไม่อนุญาต

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341, 343 วรรคแรก พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14 วรรคหนึ่ง (1) การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท กฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดมีระวางโทษเท่ากัน ให้ลงโทษฐานฉ้อโกงประชาชนเพียงบทเดียวตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 4 ปี ข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้ยก ให้จำเลยคืนเงิน 253,200 บาท ที่โจทก์ร่วมยังไม่ได้รับคืนให้แก่โจทก์ร่วม

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำคุก 3 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

ระหว่างจำเลยขออนุญาตฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง โจทก์ร่วมขอถอนคำร้องทุกข์ ศาลชั้นต้นอนุญาตเฉพาะความผิดฐานฉ้อโกง

จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้แย้งกันในชั้นฎีการับฟังเป็นยุติว่า โจทก์ร่วมใช้แอปพลิเคชัน เฟซบุ๊ก ชื่อว่า “C.” ส่วนจำเลยใช้แอปพลิเคชัน เฟซบุ๊ก ชื่อว่า “T.” โจทก์ร่วมมีบัญชีเงินฝากธนาคาร สำหรับความผิดฐานกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน ตามพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ.2527 ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ไม่อุทธรณ์ จึงเป็นอันยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ส่วนความผิดฐานอื่น ระหว่างจำเลยขออนุญาตฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง โจทก์ร่วมขอถอนคำร้องทุกข์ทุกข้อกล่าวหา เมื่อความผิดฐานฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 เป็นความผิดอันยอมความได้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 348 สิทธินำคดีอาญาในความผิดฐานดังกล่าวมาฟ้องจึงระงับไปเมื่อผู้เสียหายถอนคำร้องทุกข์ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (2) ส่วนความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343 และความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14 เป็นความผิดอาญาแผ่นดิน แม้ผู้เสียหายถอนคำร้องทุกข์ย่อมไม่ตัดอำนาจพนักงานอัยการที่จะฟ้องจำเลยในความผิดฐานดังกล่าว และสิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ในความผิดฐานดังกล่าวย่อมไม่ระงับ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 126

คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยกระทำความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนและความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ตามฟ้องโจทก์หรือไม่ เห็นว่า การเล่นแชร์ตามพระราชบัญญัติการเล่นแชร์ พ.ศ.2534 มาตรา 4 ต้องเป็นการที่บุคคลตั้งแต่สามคนขึ้นไปตกลงกันเป็นสมาชิกวงแชร์ โดยแต่ละคนมีภาระที่จะส่งเงินหรือทรัพย์สินอื่นใด รวมเข้าเป็นทุนกองกลางเป็นงวด ๆ เพื่อให้สมาชิกวงแชร์หมุนเวียนกันรับทุนกองกลางแต่ละงวดนั้นไปโดยการประมูลหรือโดยวิธีอื่นใด ข้อเท็จจริงปรากฏตามที่โจทก์ร่วมเบิกความประกอบหลักฐานจากเฟซบุ๊กของจำเลย รายการโอนเงิน ข้อความการตั้งวงแชร์และคำให้การของผู้กล่าวหาโดยจำเลยนำสืบรับข้อเท็จจริงดังกล่าวว่า จำเลยตั้งกลุ่มแชร์ออนไลน์ ผ่านทางเฟซบุ๊กของจำเลยหลายวง ลักษณะการเล่นคล้ายการเล่นแชร์ มีจำเลยเป็นผู้กำหนดจำนวนเงินต้น จำนวนสมาชิกในแต่ละวง ระยะเวลาการชำระเงิน และจำนวนเงินที่สมาชิกแต่ละลำดับต้องชำระ โดยจำนวนเงินต้นที่จำเลยกำหนดคือจำนวนเงินรวมทั้งหมดที่จำเลยกำหนดให้สมาชิกแต่ละคนในกลุ่มชำระในแต่ละงวด ในแต่ละกลุ่มจำเลยเป็นผู้ได้รับเงินงวดแรก ส่วนในงวดต่อ ๆ ไป จำเลยให้สมาชิกแต่ละคนเป็นผู้เลือกว่าจะเข้าชื่ออยู่ในลำดับใด ซึ่งสมาชิกแต่ละลำดับจะส่งเงินรายงวดและได้ผลประโยชน์ตอบแทนที่ไม่เท่ากัน เมื่อถึงลำดับของสมาชิกรายใด สมาชิกรายนั้นก็จะได้รับเงินคืนพร้อมดอกเบี้ย (กำไร) ในกรณีของโจทก์ร่วมนับแต่วันที่ 6 กันยายน 2561 เข้าร่วมเล่นกับจำเลย 15 วง แต่ละวงมีชื่อเรียกต่างกัน ได้แก่ วงสงกรานต์ วงมงกุฎ วงมังกร วงตำป่า วงปีโป้ วงนครสวรรค์ วงตอง 7 วงสุโขทัย วงกล้วยหอม วงส้มเขียวหวาน วงปลาแขยง วงชาเชียว วงรีเจนซี่ วงแม่โขง และวงแตงกวา แล้วโจทก์ร่วมชำระเงินตามระยะเวลาและจำนวนเงินในลำดับที่โจทก์ร่วมเป็นสมาชิกในแต่ละวง เช่น ในวงสงกรานต์ จำเลยกำหนดวงเงิน 30,000 บาท จ่ายทุก 10 วัน จนครบจำนวนสมาชิก มีสมาชิกทั้งหมด 15 คน จำเลยเป็นท้าวแชร์และเป็นสมาชิกในลำดับที่ 1 ส่วนโจทก์ร่วมเป็นสมาชิกลำดับที่ 11 ซึ่งลำดับนี้จำเลยกำหนดให้ส่งเงินงวดละ 1,500 บาท เริ่มเล่นและโอนเงินงวดแรกวันที่ 6 กันยายน 2561 เป็นต้นไป โจทก์ร่วมโอนเงินให้จำเลยทั้งหมด 8 งวด เป็นเงิน 12,000 บาท กำหนดจะได้รับเงินในวันที่ 11 ธันวาคม 2561 เป็นเงิน 30,000 บาท ซึ่งเป็นเงินต้นบวกกำไร ต่อมาวันที่ 12 พฤศจิกายน 2561 จำเลยประกาศทางกลุ่มในเฟซบุ๊กว่าไม่สามารถเดินแชร์ทุกวงต่อไปได้อ้างว่าสุขภาพไม่ดี และปิดกลุ่มบ้านแชร์ไป โจทก์ร่วมจึงเสียเงินจากการเล่นที่มีลักษณะคล้ายแชร์ในวงนี้ 12,000 บาท เมื่อรวมทั้ง 15 วง ที่โจทก์ร่วมได้ร่วมเล่นแล้วโจทก์ร่วมเสียเงินไปทั้งสิ้น 275,200 บาท ดังนี้ เห็นได้ว่า ในแต่ละวงที่มีการร่วมเล่นดังกล่าว จำเลยจะได้รับผลประโยน์ตั้งแต่งวดแรกในฐานะสมาชิกลำดับที่ 1 เป็นเงินรวมที่สมาชิกทุกคนนำมาลงทุน โดยไม่ปรากฏว่าจำเลยส่งเงินรวมเข้าเป็นทุนกองกลางเป็นงวด ๆ ทั้งมิได้จัดให้มีการประมูลกันเป็นงวด ๆ แต่อย่างใด การกระทำของจำเลยจึงมิใช่เป็นการเล่นแชร์ตามความหมายของมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติการเล่นแชร์ พ.ศ.2534 หากแต่เป็นการกระทำลักษณะคล้ายเล่นแชร์ โดยนำเงินของสมาชิกทุกคนไปหมุนเวียนจ่ายให้แก่สมาชิกแต่ละคนตามลำดับ ได้ความจากโจทก์ร่วมเบิกความยืนยันว่า จำเลยลงภาพและข้อความโฆษณาในเฟซบุ๊กของจำเลยซึ่งตั้งกลุ่มเฟซบุ๊กว่า “บ.” ชักชวนโจทก์ร่วมและประชาชนทั่วไปให้ร่วมเล่นแชร์ โดยจะได้ผลประโยชน์ตอบแทนเป็นดอกเบี้ยในอัตราสูงกว่าธนาคาร โดยสมาชิกอาจเลือกลงทุนเป็นทองคำหรือเงินก็ได้ แต่หากลงทุนเป็นทองคำจะได้ผลตอบแทนที่สูงกว่าเงิน โจทก์ร่วมต้องการผลประโยชน์ตอบแทน จึงร่วมลงทุนเล่นแชร์กับจำเลย สอดคล้องกับภาพและข้อความในเฟซบุ๊กของจำเลยกับหลักฐานการจ่ายเงิน ความข้อนี้จำเลยเบิกความเจือสมพยานหลักฐานของโจทก์รับว่าเฟซบุ๊กดังกล่าวเป็นของจำเลยจริงและโจทก์ร่วมเข้ามาเล่นแชร์กับจำเลย โจทก์ร่วมโอนเงินร่วมเล่นแชร์ให้จำเลยประมาณ 30 วง จำเลยโอนเงินค่าตอบแทนให้แก่โจทก์ร่วม 29 ครั้ง เป็นเงิน 261,960 บาท ซึ่งภาพและข้อความที่ปรากฏในเฟซบุ๊กของจำเลยดังกล่าวมีลักษณะจำเลยลงโฆษณาชักชวนให้ประชาชนทั่วไปให้มาร่วมเล่นแชร์ด้วยการลงทุนเป็นเงินและทองคำ โดยมีรูปภาพธนบัตรจำนวนมากและทองคำรูปพรรณ ส่อแสดงว่าเป็นการจูงใจให้โจทก์ร่วมและประชาชนทั่วไปร่วมลงทุนเล่นแชร์กับจำเลย แล้วจะได้ผลประโยชน์ตอบแทนสูง โดยไม่ปรากฏว่าจำเลยนำเงินค่าแชร์ไปลงทุนทำธุรกิจอื่นใดอันจะทำให้สมาชิกได้ผลประโยชน์ตอบแทนมากเช่นนั้น จากนั้นวันที่ 12 พฤศจิกายน 2561 จำเลยก็ปิดเฟซบุ๊กตนเองและปิดวงแชร์ทั้งหมด เป็นเหตุให้จำเลยได้ไปซึ่งเงินของโจทก์ร่วมและสมาชิก พฤติการณ์แสดงให้เห็นว่าจำเลยเพียงแต่นำเงินที่โจทก์ร่วมและสมาชิกส่งค่างวดหมุนเวียนจ่ายให้แก่สมาชิกรายอื่นหรือกลุ่มอื่นตามที่จำเลยเป็นผู้กำหนด และที่ให้ผลประโยชน์ตอบแทนแก่โจทก์ร่วมหรือสมาชิกรายอื่นในอัตราสูง ก็เพื่อจูงใจให้มีบุคคลอื่นมาเข้าร่วมเล่นต่อกันไปไม่ขาดสาย ทำให้จำเลยสามารถเก็บเกี่ยวผลประโยชน์และนำเงินที่ได้รับไปหมุนเวียนจ่ายสมาชิกต่อไปได้เรื่อย ๆ ส่วนการจ่ายเงินและผลตอบแทนคืนแก่โจทก์ร่วมและสมาชิกรายอื่นในครั้งแรก ๆ เป็นเพียงอุบายทุจริตหลอกลวงให้หลงเชื่อเพื่อให้มีการเข้าร่วมกลุ่มและชำระเงินแก่จำเลยเพิ่มมากขึ้นอันเป็นการแสดงข้อความเท็จต่อประชาชน จึงเป็นการกระทำโดยทุจริต หลอกลวงประชาชนรวมทั้งโจทก์ร่วมด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จโฆษณาทางสื่อสังคมออนไลน์เฟซบุ๊กชักชวนประชาชนทั่วไปมาร่วมทุนเล่นแชร์ โดยการตั้งวงแชร์เป็นเครื่องมือในการหลอกลวง เป็นเหตุให้จำเลยได้ไปซึ่งเงินของประชาชนรวมทั้งโจทก์ร่วม ที่จำเลยนำสืบอ้างว่าเหตุที่จำเลยไม่ได้โอนเงินตอบแทนในคดีนี้เนื่องจากสมาชิกที่ได้รับค่าแชร์ไปแล้วไม่ส่งเงินค่าแชร์ สมาชิกบางคนยังไม่จ่ายเงินค่าแชร์ บางคนปลอมสลิบการโอนเงินจำเลยจึงไม่มีเงินจ่ายโจทก์ร่วมและสมาชิกรายอื่นนั้นเป็นการนำสืบลอย ๆ ไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ รับฟังได้ว่าจำเลยหลอกลวงโจทก์ร่วมให้เข้าร่วมเล่นแชร์ออนไลน์กับจำเลยมิใช่เกิดจากความสมัครใจของโจทก์ร่วมเอง นอกจากนี้แม้การเล่นแชร์ออนไลน์ซึ่งมีลักษณะคล้ายการเล่นแชร์กับจำเลยนี้โจทก์ร่วมเป็นผู้ชักชวนเพื่อนในเฟซบุ๊กของโจทก์ร่วมให้ร่วมเล่นกับจำเลยหลายคนดังที่จำเลยอ้างมาในฎีกาหรือไม่ก็ตาม แต่การแสดงข้อความอันเป็นเท็จต่อประชาชนในความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนนั้นถือเจตนาแสดงข้อความเท็จต่อประชาชนเป็นสำคัญ โดยจะเห็นได้จากการหลอกลวง และไม่จำเป็นที่จำเลยจะต้องกระทำการดังกล่าวด้วยตนเองมาตั้งแต่ต้นทุกครั้ง เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าจำเลยแสดงข้อความอันเป็นเท็จแก่โจทก์ร่วมและผู้เสียหายบางคน แล้วเป็นผลให้ประชาชนรวมทั้งโจทก์ร่วมหลงเชื่อนำเงินร่วมเล่นกับจำเลย แม้ต่อมามีการบอกกันเป็นทอด ๆ และเพื่อนของโจทก์ร่วมทราบข่าว จากนั้นจำเลยยังคงมีพฤติการณ์แสดงข้อความและภาพที่ปรากฏในเฟซบุ๊กของจำเลยเพื่อให้หลงเชื่อและเป็นผู้เปิดโอกาสให้เพื่อนของโจทก์เข้าร่วมเป็นสมาชิกในการเล่นลักษณะคล้ายแชร์ดังกล่าว การกระทำของจำเลยก็เป็นการฉ้อโกงประชาชนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343 แล้ว พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมามีน้ำหนักมั่นคงรับฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่าจำเลยกระทำความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน และเป็นการนำข้อความอันเป็นเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ในเฟซบุ๊กของจำเลยโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่โจทก์ร่วม ผู้อื่นหรือประชาชน อันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ตามฟ้องโจทก์อีกฐานหนึ่ง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาลงโทษจำเลยมานั้น ศาลฎีกาเห็นฟ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น แต่การที่โจทก์ร่วมถอนคำร้องทุกข์ย่อมเป็นผลให้คำขอในส่วนแพ่งในความผิดฐานฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 ที่โจทก์ได้ขอให้จำเลยคืนหรือใช้เงินแก่โจทก์ร่วมตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 43 ตกไปด้วย จึงต้องยกคำขอในส่วนแพ่งของโจทก์เสีย ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำหน่ายคดีเฉพาะความผิดฐานฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 ยกคำขอให้จำเลยคืนหรือใช้เงินแก่โจทก์ร่วม นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6

สำนักงานกฎหมายปรัชญาเศรษฐ์ทนายความ Copyright © 2021. All rights reserved.