ปัญหาที่เกี่ยวพันกับความสงบเรียบร้อยในคดีฉ้อโกง ศาลฎีกาวางหลักไว้อย่างไร

ปัญหาที่เกี่ยวพันกับความสงบเรียบร้อยในคดีฉ้อโกง ศาลฎีกาวางหลักไว้อย่างไร

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 267, 341 และให้จำเลยคืนเงิน 2,040,000 บาท แก่ผู้เสียหายที่ 1

จำเลยให้การรับสารภาพ

ระหว่างพิจารณานายชยธร ผู้เสียหายที่ 1 ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาตให้เข้าร่วมเป็นโจทก์เฉพาะข้อหาฉ้อโกง

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 276 (ที่ถูก มาตรา 267), 341 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานฉ้อโกง จำคุก 3 ปี ฐานแจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารราชการ จำคุก 1 ปี จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ให้กระทงละกึ่งหนึ่ง คงจำคุก 2 ปี ให้จำเลยใช้เงิน 2,040,000 บาท คืนแก่โจทก์ร่วม

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาแก้เป็นว่า การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 แต่ละบทมีระวางโทษเท่ากัน จึงให้ลงโทษฐานฉ้อโกง จำคุก 2 ปี และปรับ 20,000 บาท อีกสถานหนึ่ง จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 1 ปี และปรับ 10,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 1 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 หากไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 คำขออื่นให้ยก นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

โจทก์ร่วมฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยในความผิดฐานฉ้อโกง จำคุก 3 ปี ฐานแจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารราชการ จำคุก 1 ปี ลดโทษให้กระทงละกึ่งหนึ่ง คงจำคุก 2 ปี ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาแก้เป็นว่า ความผิดทั้งสองฐานเป็นกรรมเดียวและมีระวางโทษเท่ากัน ลงโทษฐานฉ้อโกง จำคุก 2 ปี และปรับ 20,000 บาท อีกสถานหนึ่ง ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 1 ปี และปรับ 10,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 1 ปี ดังนี้ แม้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 9 จะได้รอการลงโทษจำคุกจำเลยอันเป็นการแก้ไขมากก็ตาม แต่เมื่อศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท คดีจึงต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 219 ที่โจทก์ร่วมฎีกาว่า เมื่อพิจารณาการกระทำความผิดของจำเลยกับความเสียหายที่โจทก์ร่วมได้รับ กรณียังไม่เหมาะสมที่จะลงโทษจำเลยสถานเบา โดยหากศาลจะรอการลงโทษก็ควรกำหนดเงื่อนไขตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 (7) นั้น เป็นฎีกาโต้แย้งดุลพินิจในการกำหนดโทษ จึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามฎีกาตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายมาตราดังกล่าว ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งในคำร้องขออนุญาตฎีกาปัญหาข้อกฎหมายและข้อเท็จจริง ฉบับลงวันที่ 30 สิงหาคม 2564 ซึ่งโจทก์ร่วมมีคำขอให้ศาลฎีกาอนุญาตให้ฎีกาว่า คดีไม่ต้องห้ามฎีกา จึงให้งดส่งคำร้อง นั้น เป็นการสั่งไปโดยไม่มีอำนาจและโดยผิดหลง จึงให้เพิกถอนคำสั่งของศาลชั้นต้นดังกล่าว อย่างไรก็ตาม คดีอาญาทั่วไปที่ต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 219 ไม่มีบทบัญญัติให้การฎีกาจะกระทำได้ต่อเมื่อได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา การฎีกาจึงอยู่ในบังคับตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 216 และมาตรา 221 การที่โจทก์ร่วมยื่นคำร้องฉบับดังกล่าว โดยไม่ได้ยื่นเป็นคำร้องขอให้ผู้พิพากษาคนใดคนหนึ่งซึ่งพิจารณา หรือลงชื่อในคำพิพากษาหรือทำความเห็นแย้งในศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์ภาค 9 อนุญาตให้โจทก์ร่วมฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงได้ คำร้องขออนุญาตฎีกาของโจทก์ร่วมจึงเป็นคำร้องที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 221 ศาลฎีกาเห็นสมควรมีคำสั่งเป็นว่า ให้ยกคำร้องฉบับดังกล่าว และที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงของโจทก์ร่วมดังกล่าวมานั้นเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

มีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ร่วมประการแรกว่า การกระทำความผิดของจำเลยตามคำฟ้องในข้อหาแจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารราชการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 267 และข้อหาฉ้อโกง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกันหรือไม่ เห็นว่า แม้โจทก์ร่วมจะไม่มีสิทธิฎีกาขอให้กำหนดโทษจำเลยในข้อหาแจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารราชการ เนื่องจากศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์ร่วมเข้าร่วมเป็นโจทก์เฉพาะข้อหาฉ้อโกง แต่ปัญหาข้อกฎหมายตามฎีกาของโจทก์ร่วมดังกล่าวเกี่ยวพันกับความผิดข้อหาฉ้อโกงที่โจทก์ร่วมมีสิทธิฎีกา ทั้งเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ที่ไม่ว่าจำเลยจะยกขึ้นว่ากล่าวในศาลชั้นต้นหรือไม่ หากศาลอุทธรณ์ภาค 9 และศาลฎีกาเห็นสมควรก็มีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง และมาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 ซึ่งเมื่อพิจารณาคำฟ้องของโจทก์แล้ว ปรากฏว่าโจทก์แยกฟ้องเป็นข้อ ก. และข้อ ข. แต่ใช้วันเวลากระทำผิดเดียวกัน คำฟ้องข้อ ก. ระบุว่า จำเลยหลอกลวงโจทก์ร่วมว่า จำเลยมีความประสงค์ขายฝากที่ดินโฉนดเลขที่ 10840 พร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่ผู้เสียหายที่ 1 ในราคา 2,040,000 บาท อันเป็นความเท็จ ความจริงแล้วที่ดินโฉนดเลขที่ 10840 ไม่มีสิ่งปลูกสร้างดังที่จำเลยกล่าวอ้าง โดยการหลอกลวงดังกล่าวทำให้ผู้เสียหายที่ 1 หลงเชื่อ จึงทำสัญญาขายฝากที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างกับจำเลยในราคา 2,040,000 บาท และมอบเงินจำนวนดังกล่าวให้จำเลยในการทำสัญญาขายฝาก ส่วนคำฟ้องข้อ ข. ระบุว่า จำเลยแจ้งให้ผู้เสียหายที่ 2 ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานที่ดินจดข้อความอันเป็นเท็จลงในหนังสือสัญญาขายฝากที่ดินอันเป็นเอกสารราชการว่าที่ดินโฉนดเลขที่ 10840 มีสิ่งปลูกสร้าง อันเป็นความเท็จ ทำให้ผู้เสียหายที่ 2 หลงเชื่อและจดข้อความที่จำเลยแจ้งดังกล่าวลงในหนังสือสัญญาขายฝากที่ดิน ดังนี้ จึงเห็นได้ว่าการที่จำเลยแจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารราชการตามฟ้องข้อ ข. เป็นการกระทำส่วนหนึ่งของการฉ้อโกงตามฟ้องข้อ ก. อันเป็นการกระทำต่อเนื่องด้วยเจตนาอย่างเดียวคือเพื่อหลอกลวงเงินจากโจทก์ร่วม จึงเป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท มิใช่เป็นการกระทำความผิดหลายกรรมต่างกัน ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 วินิจฉัยมานั้นชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ร่วมในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

มีปัญหาในคดีส่วนแพ่งต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ร่วมประการสุดท้ายว่า ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 ยกคำขอที่ให้จำเลยคืนเงิน 2,040,000 บาท แก่โจทก์ร่วมชอบหรือไม่ เห็นว่า จำเลยขายฝากที่ดินให้โจทก์ร่วม โดยหลอกลวงว่าที่ดินตามโฉนดดังกล่าวมีสิ่งปลูกสร้างทาวน์เฮาส์สองชั้น ความจริงที่ดินนั้นไม่มีสิ่งปลูกสร้าง โจทก์จึงฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 และมีคำขอให้จำเลยคืนเงินแก่โจทก์ร่วมด้วย เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพ และศาลพิพากษาลงโทษจำเลยในความผิดฐานดังกล่าวตามฟ้อง จำเลยจึงต้องคืนเงินที่เสียไปเต็มจำนวนแก่โจทก์ร่วมตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 43 ส่วนที่ดินที่จำเลยจดทะเบียนขายฝากให้แก่โจทก์ร่วมนั้น จำเลยก็ต้องดำเนินการตามสิทธิของตนเองต่อไป ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาให้ยกคำขอดังกล่าวมานั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ร่วมในข้อนี้ฟังขึ้น อย่างไรก็ตามข้อเท็จจริงได้ความตามรายงานกระบวนพิจารณา ฉบับลงวันที่ 17 สิงหาคม 2563 ว่า ก่อนอ่านคำพิพากษาศาลชั้นต้น จำเลยชำระค่าเสียหายให้แก่โจทก์ร่วมเป็นเงิน 650,000 บาท จึงต้องหักเงินดังกล่าวออกจากจำนวนที่จำเลยจะต้องคืนให้แก่โจทก์ร่วมด้วย

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยคืนเงิน 1,390,000 บาท แก่โจทก์ร่วม นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 9

  • สรุป
  • แม้โจทก์ร่วมไม่มีสิทธิฎีกาขอให้กำหนดโทษจําเลยในข้อหาแจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารราชการ เนื่องจากศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์ร่วมเข้าร่วมเป็นโจทก์เฉพาะข้อหาฉ้อโกง แต่ปัญหาข้อกฎหมายตามฎีกาของโจทก์ร่วมเกี่ยวพันกับความผิดข้อหาฉ้อโกงที่โจทก์ร่วมมีสิทธิฎีกา ทั้งเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย หากศาลอุทธรณ์ภาค 9 และศาลฎีกาเห็นสมควรก็มีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง และมาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225คําฟ้องของโจทก์แยกเป็นข้อ ก. และข้อ ข. แต่ใช้วันเวลากระทำผิดเดียวกัน ข้อ ก. ระบุว่า จําเลยหลอกลวงโจทก์ร่วมว่า จําเลยประสงค์ขายฝากที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่ผู้เสียหายที่ 1 อันเป็นความเท็จ ความจริงแล้วไม่มีสิ่งปลูกสร้าง ผู้เสียหายที่ 1 หลงเชื่อจึงทำสัญญาขายฝากที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างกับจำเลย และมอบเงินให้จําเลย ข้อ ข. ระบุว่า จําเลยแจ้งให้ผู้เสียหายที่ 2 ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานที่ดินจดข้อความอันเป็นเท็จลงในสัญญาขายฝากที่ดินอันเป็นเอกสารราชการว่าที่ดินมีสิ่งปลูกสร้างอันเป็นความเท็จ ทำให้ผู้เสียหายที่ 2 หลงเชื่อและจดข้อความดังกล่าวลงในหนังสือสัญญาขายฝากที่ดิน เห็นได้ว่าการที่จําเลยแจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารราชการตามข้อ ข. เป็นการกระทำส่วนหนึ่งของการฉ้อโกงตามข้อ ก. อันเป็นการกระทำต่อเนื่องด้วยเจตนาอย่างเดียวกันคือเพื่อหลอกลวงเงินจากโจทก์ร่วม จึงเป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทจําเลยขายฝากที่ดินให้โจทก์ร่วมโดยหลอกลวงว่าที่ดินมีสิ่งปลูกสร้าง ความจริงที่ดินไม่มีสิ่งปลูกสร้าง โจทก์จึงฟ้องขอให้ลงโทษจําเลยฐานฉ้อโกง และมีคําขอให้จําเลยคืนเงินแก่โจทก์ร่วม เมื่อจําเลยให้การรับสารภาพและศาลพิพากษาลงโทษจําเลยตามฟ้อง จําเลยจึงต้องคืนเงินเต็มจำนวนแก่โจทก์ร่วมตาม ป.วิ.อ. มาตรา 43 ส่วนที่ดินที่จําเลยจดทะเบียนขายฝากให้แก่โจทก์ร่วม จําเลยต้องดำเนินการตามสิทธิของตนเองต่อไป\
สำนักงานกฎหมายปรัชญาเศรษฐ์ทนายความ Copyright © 2021. All rights reserved.