ผู้แทนนิติบุคคลไม่รู้ว่าวันที่ออกเช็คไม่มีเงินพอที่จะจ่าย การกระทำเป็นความผิดตามพรบ.เช็คหรือไม่

ผู้แทนนิติบุคคลไม่รู้ว่าวันที่ออกเช็คไม่มีเงินพอที่จะจ่าย การกระทำเป็นความผิดตามพรบ.เช็คหรือไม่

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83

ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่า คดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง

จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ แต่ก่อนสืบพยาน จำเลยที่ 1 ขอถอนคำให้การปฏิเสธเดิมและให้การใหม่เป็นรับสารภาพ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4 (2) (3) ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ปรับจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 20,000 บาท และจำคุกจำเลยที่ 2 และที่ 3 มีกำหนดคนละ 9 เดือน จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ และทางนำสืบของจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้จำเลยที่ 1 กึ่งหนึ่ง และลดโทษให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 หนึ่งในสาม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงปรับจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 10,000 บาท และคงจำคุกจำเลยที่ 2 และที่ 3 มีกำหนดคนละ 6 เดือน หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระค่าปรับ ให้บังคับตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29

จำเลยที่ 2 และที่ 3 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายืน

จำเลยที่ 2 และที่ 3 ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่โจทก์และจำเลยทั้งสามไม่โต้แย้งกันในชั้นฎีการับฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทสหกรณ์บริการ ตามพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ. 2542 จำเลยที่ 2 เป็นประธานกรรมการในคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์จำเลยที่ 1 จำเลยที่ 3 เป็นเลขานุการในคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์จำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 และที่ 3 มีอำนาจกระทำการแทนสหกรณ์จำเลยที่ 1 โดยลงลายมือชื่อร่วมกันมีผลผูกพันสหกรณ์จำเลยที่ 1 และนางสาวมาริน เป็นผู้จัดการสหกรณ์จำเลยที่ 1 โจทก์เป็นสมาชิกของสหกรณ์จำเลยที่ 1 โจทก์เปิดบัญชีเงินฝากประเภทออมทรัพย์ (พิเศษ) เลขที่ 0049 ไว้กับจำเลยที่ 1 เมื่อประมาณต้นเดือนสิงหาคม 2562 จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 และที่ 3 ลงลายมือชื่อเป็นผู้สั่งจ่ายในเช็คธนาคาร ลงวันที่ 26 สิงหาคม 2562 จำนวน 1,000,000 บาท เพื่อชำระหนี้เงินฝากให้แก่โจทก์ ต่อมาวันที่ 19 กันยายน 2562 โจทก์นำเช็คฉบับดังกล่าวไปเรียกเก็บเงิน ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน โดยให้เหตุผลว่า “เงินในบัญชีไม่พอจ่าย”

มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันกระทำความผิดกับจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานออกเช็คโดยเจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็ค ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ดังที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาหรือไม่ โดยจำเลยที่ 2 และที่ 3 ฎีกาว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันออกเช็คธนาคาร ลงวันที่ 26 สิงหาคม 2562 สั่งจ่ายเงินจำนวน 1,000,000 บาท ชำระหนี้เงินฝากคืนให้แก่โจทก์ โดยจำเลยที่ 2 และที่ 3 เชื่อโดยสุจริตว่าจำเลยที่ 1 มีเงินในบัญชีเงินฝากจำนวนมากพอที่จะชำระหนี้เงินตามเช็คดังกล่าวให้แก่โจทก์ได้ จำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงขาดเจตนากระทำความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4 นั้น เห็นว่า การกระทำอันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4 (1) ถึง (4) นั้น ข้อเท็จจริงที่ว่าวันที่จำเลยทั้งสามร่วมกันออกเช็คของจำเลยที่ 1 เพื่อชำระหนี้เงินฝากคืนให้แก่โจทก์ จำเลยที่ 1 ไม่มีเงินอยู่ในบัญชีอันจะพึงให้ใช้เงินได้หรือมีเงินเหลืออยู่ในบัญชีไม่เพียงพอที่จะใช้เงินตามเช็คได้นั้น เป็นข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิดตามพระราชบัญญัติดังกล่าว มาตรา 4 ซึ่งการกระทำของจำเลยที่ 2 และที่ 3 อันจะเป็นความผิดตามบทบัญญัติมาตราดังกล่าวได้นั้น จำเลยที่ 2 และที่ 3 จะต้องมีเจตนากระทำความผิดโดยรู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 59 วรรคสาม ว่าในวันที่ออกเช็คนั้นจำเลยที่ 1 ไม่มีเงินอยู่ในบัญชีเพียงพอที่จะชำระหนี้ตามเช็คให้แก่โจทก์ได้ และโจทก์มีหน้าที่ต้องนำสืบพิสูจน์ถึงเจตนาในการกระทำความผิดดังกล่าวให้รับฟังได้โดยปราศจากข้อควรสงสัยว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้กระทำความผิดดังที่โจทก์กล่าวอ้างมาในคำฟ้องจริง ศาลจึงจะพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 2 และที่ 3 ตามที่ถูกกล่าวหาตามคำฟ้องของโจทก์ได้ แต่จากทางนำสืบของโจทก์ได้ความว่า เมื่อประมาณต้นเดือนสิงหาคม 2562 จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 และที่ 3 ออกเช็คธนาคาร ลงวันที่ 26 สิงหาคม 2562 สั่งจ่ายเงินจำนวน 1,000,000 บาท เพื่อชำระหนี้เงินฝากคืนแก่โจทก์ ต่อมาวันที่ 19 กันยายน 2562 โจทก์นำเช็คดังกล่าวไปเรียกเก็บเงิน ปรากฏว่าธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน โดยให้เหตุผลว่า “เงินในบัญชีไม่พอจ่าย” โดยปรากฏตามสำเนารายการเคลื่อนไหวทางบัญชีเงินฝากกระแสรายวันธนาคารของจำเลยที่ 1 ระหว่างวันที่ 17 ตุลาคม 2552 ถึงวันที่ 27 สิงหาคม 2562 ที่โจทก์นำสืบว่า ในวันที่ 21 สิงหาคม 2562 จำเลยที่ 1 มีเงินคงเหลืออยู่ในบัญชีเงินฝากจำนวน 235.77 บาท หลังจากนั้นไม่ปรากฏว่ามีการทำรายการที่แสดงถึงการเคลื่อนไหวทางบัญชีอื่นใดอีก แสดงว่าในวันที่ 26 สิงหาคม 2562 ซึ่งถือเป็นวันที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันออกเช็คชำระหนี้เงินฝากคืนแก่โจทก์นั้น จำเลยที่ 1 คงมีเงินอยู่ในบัญชีเพียง 235.77 บาท ซึ่งไม่เพียงพอที่จะพึงใช้ให้แก่โจทก์ตามเช็คนั้นได้ อย่างไรก็ดี ข้อเท็จจริงได้ความตามคำเบิกความของโจทก์ที่ตอบทนายจำเลยที่ 2 และที่ 3 ถามค้านว่า เมื่อประมาณต้นเดือนสิงหาคม 2562 โจทก์ได้รับเช็คที่จำเลยทั้งสามร่วมกันออกจากนางสาวมาริน ผู้จัดการสหกรณ์จำเลยที่ 1 ต่อมาวันที่ 26 สิงหาคม 2562 เช็คดังกล่าวถึงกำหนดชำระเงิน โจทก์ไม่ได้นำเช็คไปเรียกเก็บเงิน แต่นำไปเรียกเก็บเงินที่ธนาคารเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2562 และในวันที่ 30 สิงหาคม 2562 โจทก์เดินทางไปที่สหกรณ์จำเลยที่ 1 เพื่อยืนยันยอดเงินฝากที่ฝากไว้กับจำเลยที่ 1 ได้รับแจ้งว่ามีการทุจริตเกิดขึ้นภายในสหกรณ์จำเลยที่ 1 โดยนางสาวมารินผู้จัดการสหกรณ์จำเลยที่ 1 ทุจริตนำเงินของสหกรณ์จำเลยที่ 1 ไปใช้ส่วนตัว จำเลยที่ 1 จึงไม่มีเงินฝากคืนให้แก่สมาชิกของสหกรณ์จำเลยที่ 1 รวมถึงโจทก์ได้ ซึ่งข้อเท็จจริงตามคำเบิกความของโจทก์ดังกล่าวเจือสมกับที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 นำสืบโต้แย้งว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 ลงลายมือชื่อเป็นผู้สั่งจ่ายเงินในเช็คให้แก่โจทก์เมื่อประมาณต้นเดือนสิงหาคม 2562 โดยนางสาวมาริน ผู้จัดการสหกรณ์จำเลยที่ 1 เป็นผู้นำเช็คของจำเลยที่ 1 มาให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ลงลายมือชื่อ และในขณะที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันออกเช็คนั้น จำเลยที่ 2 และที่ 3 เข้าใจว่าจำเลยที่ 1 มีเงินในบัญชีจำนวนมากพอที่จะชำระเงินตามเช็คนั้นให้แก่โจทก์ได้ เนื่องจากในการดำเนินงานของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 และที่ 3 ทราบสถานะทางการเงินของจำเลยที่ 1 ผ่านทางการประชุมคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์จำเลยที่ 1 โดยการรายงานข้อมูลและการจัดทำเอกสารทางการเงินที่นางสาวมารินผู้จัดการสหกรณ์จำเลยที่ 1 เสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์จำเลยที่ 1 มาโดยตลอดว่า จำเลยที่ 1 มีฐานะทางการเงินมั่นคง โดย ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2562 จำเลยที่ 1 มีสินทรัพย์เป็นเงินในบัญชีเงินฝากออมทรัพย์และบัญชีเงินฝากกระแสรายวันของธนาคาร เงินสลากออม และดอกเบี้ยสลากออม รวมมูลค่าสินทรัพย์เป็นเงินทั้งสิ้น 31,000,000 บาทเศษ แต่เนื่องจากวันที่ 22 สิงหาคม 2562 จำเลยที่ 2 ได้รับแจ้งทางโทรศัพท์จากสมาชิกของสหกรณ์จำเลยที่ 1 ว่าเบิกถอนเงินฝากจากจำเลยที่ 1 ไม่ได้ จำเลยที่ 2 จึงไปตรวจสอบข้อเท็จจริงเบื้องต้นที่ธนาคาร ต่อมาวันที่ 23 สิงหาคม 2562 คณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์จำเลยที่ 1 และบุคคลที่เกี่ยวข้องได้ร่วมประชุมปรึกษาหารือกันเพื่อตรวจสอบความผิดปกติทางด้านการเงินของสหกรณ์จำเลยที่ 1 ในวันดังกล่าวนางสาวมารินผู้จัดการสหกรณ์จำเลยที่ 1 เข้าร่วมประชุมด้วยและนางสาวมารินให้การรับสารภาพว่า ได้นำเงินของจำเลยที่ 1 ไปใช้ส่วนตัวจนหมด โดยนางสาวมารินได้ลงลายมือชื่อยอมรับผิดในบันทึกสืบสวนข้อเท็จจริง ซึ่งมีการบันทึกภาพถ่ายวิดีโอในขณะที่มีการประชุมสอบสวนข้อเท็จจริงประกอบคำรับสารภาพของนางสาวมารินไว้ตามวัตถุพยาน จำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงเพิ่งทราบในวันที่ 23 สิงหาคม 2562 ว่าจำเลยที่ 1 ไม่มีเงินในบัญชีเพียงพอชำระหนี้เงินตามเช็คให้แก่โจทก์ได้ ต่อมาคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์จำเลยที่ 1 มีคำสั่งลงโทษนางสาวมาริน โดยให้ไล่ออกจากการเป็นผู้จัดการสหกรณ์จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ประธานกรรมการ ได้แจ้งความร้องทุกข์ต่อร้อยตำรวจเอกเสกสรร พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรเมืองสุราษฎร์ธานีให้ดำเนินคดีแก่ นางสาวมารินในความผิดฐานยักยอกเงินของจำเลยที่ 1 ต่อมาจำเลยที่ 2 และที่ 3 แจ้งเรื่องที่สหกรณ์จำเลยที่ 1 มีการทุจริตเกิดขึ้นภายในสหกรณ์ ทำให้ไม่สามารถจ่ายเงินฝากให้แก่โจทก์และสมาชิกทุกคนทราบ จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ประธานกรรมการ ปิดประกาศแจ้งเรื่องดังกล่าวให้สมาชิกทุกคนทราบ ณ หน้าที่ทำการสหกรณ์จำเลยที่ 1 ตามประกาศของสหกรณ์ ด. จำกัด เรื่อง การขอถอนเงินฝาก ลงวันที่ 6 กันยายน 2562 ข้อนำสืบของจำเลยที่ 2 และที่ 3 นี้นอกจากจะมีตัวจำเลยที่ 2 และที่ 3 อ้างตนเองเป็นพยานเบิกความยืนยันข้อเท็จจริง โดยมีพยานเอกสารมานำสืบสนับสนุนด้วยแล้ว ตามพฤติการณ์แห่งคดีก็ไม่ปรากฏจากพยานหลักฐานของโจทก์ที่แสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้รับผลประโยชน์ตอบแทนหรือได้รับส่วนแบ่งจากเงินของสหกรณ์จำเลยที่ 1 ที่นางสาวมารินยักยอกไปแต่อย่างใด จึงเป็นข้อสนับสนุนให้เชื่อว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่มีส่วนรู้เห็นเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดของนางสาวมารินดังที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 นำสืบ ดังนี้ เมื่อพยานหลักฐานของโจทก์ที่นำสืบมารับฟังไม่ได้ว่า ในวันที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ออกเช็คสั่งจ่ายเงินในบัญชีของจำเลยที่ 1 เพื่อชำระหนี้แก่โจทก์นั้น จำเลยที่ 2 และที่ 3 รู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4 อยู่แล้วว่า จำเลยที่ 1 ไม่มีเงินอยู่ในบัญชีเพียงพอที่จะชำระหนี้เงินตามเช็คให้แก่โจทก์ได้ ทั้งโจทก์มิได้นำสืบให้เห็นว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 มีส่วนรู้เห็นเกี่ยวข้องกับการที่นางสาวมารินยักยอกเงินของสหกรณ์จำเลยที่ 1 อันเป็นเหตุที่ทำให้จำเลยที่ 1 ไม่มีเงินอยู่ในบัญชีเงินฝากของจำเลยที่ 1 เพียงพอที่จะชำระเงินตามเช็คให้แก่โจทก์ได้ พยานหลักฐานของโจทก์จึงรับฟังไม่ได้ว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันออกเช็คตามฟ้องเพื่อชำระหนี้แก่โจทก์ โดยไม่มีเงินอยู่ในบัญชีอันจะพึงให้ใช้เงินได้หรือมีเงินเหลืออยู่ไม่เพียงพอที่จะใช้เงินตามเช็ค การกระทำของจำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงเป็นการกระทำโดยขาดเจตนาในการกระทำความผิดอันจะเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4 ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 2 และที่ 3 มานั้นไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ฟังขึ้น ส่วนคดีสำหรับจำเลยที่ 1 นั้น แม้จำเลยที่ 1 จะให้การรับสารภาพว่า จำเลยที่ 1 กระทำความผิดตามฟ้องโจทก์ แต่ข้อเท็จจริงปรากฏตามฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคล การกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 ต้องกระทำโดยการแสดงเจตนาในการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4 ผ่านทางจำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นผู้แทนของนิติบุคคลจำเลยที่ 1 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 70 กล่าวคือ จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ประธานกรรมการสหกรณ์ในคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3 เลขานุการในคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์จำเลยที่ 1 ร่วมกันลงลายมือชื่อออกเช็คตามฟ้องลงวันที่ 26 สิงหาคม 2562 สั่งจ่ายเงินจำนวน 1,000,000 บาท เพื่อชำระหนี้เงินฝากคืนแก่โจทก์ เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังไม่ได้ว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นผู้แทนสหกรณ์จำเลยที่ 1 ได้ออกเช็คของจำเลยที่ 1 เพื่อชำระหนี้แก่โจทก์ โดยไม่มีเงินอยู่ในบัญชีอันจะพึงให้ใช้เงินได้หรือมีเงินเหลืออยู่ไม่เพียงพอที่จะใช้เงินตามเช็ค เพราะจำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่รู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4 ว่าในวันที่ออกเช็คนั้น จำเลยที่ 1 ไม่มีเงินเพียงพอที่จะชำระเงินตามเช็คได้ จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นนิติบุคคลรู้ว่าในวันที่ออกเช็คนั้นจำเลยที่ 1 ไม่มีเงินอยู่ในบัญชีเพียงพอที่จะชำระเงินตามเช็คให้แก่โจทก์ได้เช่นกัน การกระทำของจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 และที่ 3 ดังกล่าว จึงเป็นการกระทำโดยขาดเจตนาในการกระทำความผิดอันจะเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4 จำเลยที่ 1 ย่อมไม่มีความผิดตามที่โจทก์ฟ้อง และกรณีนี้เป็นเหตุอยู่ในส่วนลักษณะคดี ศาลย่อมมีอำนาจพิพากษาตลอดไปถึงจำเลยที่ 1 ที่มิได้อุทธรณ์ฎีกาด้วยได้ ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499 มาตรา 4 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 225 มาตรา 215 มาตรา 213 และมาตรา 185 วรรคหนึ่ง ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 มานั้น จึงเป็นการไม่ชอบด้วยบทกฎหมายดังกล่าว ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499 มาตรา 4 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 225 และมาตรา 195 วรรคสอง

พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง

สำนักงานกฎหมายปรัชญาเศรษฐ์ทนายความ Copyright © 2021. All rights reserved.