ฟ้องไม่ครบองค์ประกอบในคดีฉ้อโกง มีหลักในการสู้คดีอย่างไร

ฟ้องไม่ครบองค์ประกอบในคดีฉ้อโกง มีหลักในการสู้คดีอย่างไร

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527 มาตรา 3, 4, 5, 12 พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 3, 14 พระราชบัญญัติการเล่นแชร์ พ.ศ. 2534 มาตรา 4, 6, 17 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 58, 91, 341, 343 บวกโทษจำคุกของจำเลยที่รอการลงโทษไว้ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 350/2562 ของศาลแขวงสุรินทร์ เข้ากับโทษจำคุกของจำเลยในคดีนี้ และนับโทษจำคุกของจำเลยในคดีนี้ต่อจากโทษจำคุกในคดีอาญาหมายเลขดำที่ อ 4490/2563 ของศาลอาญามีนบุรี

จำเลยให้การรับสารภาพ และรับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้บวกโทษและนับโทษต่อ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343 วรรคแรก พระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527 มาตรา 4 วรรคหนึ่ง, 5 (1) (2) (ก) (ที่ถูก 5 (1) (ก) (2) (ก)), 12 พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 14 วรรคหนึ่ง (1) พระราชบัญญัติการเล่นแชร์ พ.ศ. 2534 มาตรา 6 (1) (2), 17 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานฉ้อโกงประชาชน ฐานกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน ฐานหลอกลวงนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ และฐานเป็นนายวงแชร์จัดให้การเล่นแชร์มีจำนวนวงแชร์รวมกันมากกว่าสามวงและมีจำนวนสมาชิกวงแชร์รวมกันทุกวงมากกว่าสามสิบคน เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกกระทงละ 5 ปี จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ให้กระทงละกึ่งหนึ่ง คงจำคุกกระทงละ 2 ปี 6 เดือน รวม 7 กระทง เป็นจำคุก 14 ปี 42 เดือน บวกโทษจำคุก 1 ปี ที่รอการลงโทษไว้ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 350/2562 ของศาลแขวงสุรินทร์เข้ากับโทษในคดีนี้ เป็นจำคุก 15 ปี 42 เดือน คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ความผิดฐานเป็นนายวงแชร์จัดให้มีการเล่นแชร์มีจำนวนวงแชร์รวมกันมากกว่าสามวงและมีจำนวนสมาชิกวงแชร์รวมกันทุกวงมากกว่าสามสิบคนตามพระราชบัญญัติการเล่นแชร์ พ.ศ. 2534 มาตรา 6 (1) (2), 17 ส่วนโทษและนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดข้อหาเป็นนายวงแชร์จัดให้มีการเล่นแชร์มีจำนวนวงแชร์รวมกันมากกว่าสามวงและมีจำนวนสมาชิกวงแชร์รวมกันทุกวงมากกว่าสามสิบคนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นหรือไม่ เห็นว่า การกระทำความผิดดังกล่าวผู้กระทำจะต้องมีเจตนาเป็นนายวงแชร์หรือจัดให้มีการเล่นแชร์มีจำนวนรวมกันมากกว่าสามวงหรือมีสมาชิกวงแชร์รวมกันทุกวงมากกว่าสามสิบคน โดยผู้กระทำความผิดต้องมีเจตนาจัดให้มีการเล่นแชร์หรือเป็นนายวงแชร์ที่แท้จริง ดังนี้ แม้ตามคำฟ้องของโจทก์ในตอนต้นระบุว่า จำเลยกระทำความผิดข้อหาดังกล่าวโดยเป็นนายวงแชร์และจัดให้มีการเล่นแชร์พร้อมกับวงแชร์อื่นหลายวงมากกว่าสามวง และมีสมาชิกวงแชร์รวมกันมากกว่าสามสิบคน แต่ในคำฟ้องต่อไปได้อธิบายถึงพฤติการณ์แห่งการกระทำความผิดของจำเลยว่า จำเลยประกาศเชิญชวนว่าในการเล่นแชร์จะให้ผลตอบแทนเป็นเงินปันผล ดอกเบี้ย หรือกำไรแก่สมาชิกวงแชร์ตามข้อเสนอของจำเลยที่เสนอให้ผลตอบแทน ซึ่งเป็นวงแชร์ที่ไม่มีการเปียหรือประมูล โดยสมาชิกวงแชร์จะได้รับผลตอบแทนเป็นเงินปันผล ดอกเบี้ย หรือกำไรคิดเป็นอัตราดอกเบี้ยเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดเพื่อเป็นอุบายในการหลอกลวงประชาชน… ซึ่งความจริงแล้วจำเลยไม่มีเจตนาจ่ายเงินปันผล ผลตอบแทน ดอกเบี้ย หรือกำไรให้แก่สมาชิกที่ร่วมลงทุนแต่อย่างใด ใจความตามคำฟ้องโจทก์ที่บรรยายพฤติการณ์การกระทำความผิดของจำเลยดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า จำเลยเพียงแต่อ้างการจัดให้มีการเล่นแชร์มาเป็นข้อหลอกลวงเพื่อให้ได้เงินค่างวดแชร์จากผู้เสียหายหรือผู้อื่น จำเลยมิได้มีเจตนาจัดให้มีการเล่นแชร์ตามข้อกล่าวอ้างอันเป็นองค์ประกอบความผิดต่อพระราชบัญญัติการเล่นแชร์ พ.ศ. 2534 มาตรา 6 (1) (2) ตามที่โจทก์ได้ระบุเกริ่นไว้ในตอนต้นของคำบรรยายฟ้อง จึงฟังไม่ได้ว่าเป็นกรณีมีบุคคลตั้งแต่สามคนขึ้นไปตกลงกันเป็นสมาชิกวงแชร์ โดยแต่ละคนมีภาระที่จะส่งเงินหรือทรัพย์สินอื่นใดรวมเข้าเป็นทุนกองกลางเป็นงวด ๆ เพื่อให้สมาชิกวงแชร์หมุนเวียนกันรับทุนกองกลางแต่ละงวดนั้น ไปโดยการประมูลหรือโดยวิธีอื่นใด อันจะเป็นการเล่นแชร์ตามความหมายแห่งพระราชบัญญัติการเล่นแชร์ พ.ศ. 2534 มาตรา 4 ดังนี้ แม้จำเลยให้การรับสารภาพว่า จำเลยกระทำความผิดตามฟ้อง แต่เมื่อพฤติการณ์การกระทำความผิดของจำเลยตามฟ้องมีเจตนาแท้จริงคือหลอกลวงฉ้อโกงประชาชนด้วยแสดงข้อความอันเป็นเท็จว่าเป็นวงแชร์ที่ให้ผลตอบแทนโดยไม่มีเจตนาจ่ายผลตอบแทนจริงและไม่มีการเปียหรือประมูลแชร์แต่อย่างใด ในส่วนของความผิดต่อพระราชบัญญัติการเล่นแชร์ตามที่โจทก์บรรยายมาในคำฟ้องไม่อาจถือเป็นความผิดตามบทกฎหมายดังกล่าวได้ ย่อมไม่อาจลงโทษจำเลยในความผิดข้อหาดังกล่าวได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายกฟ้องสำหรับข้อหาดังกล่าวมานั้นชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น

พิพากษายืน

สรุป

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกระทำความผิดข้อหาเป็นนายวงแชร์จัดให้มีการเล่นแชร์มีจำนวนวงแชร์รวมกันมากกว่าสามวงและมีจำนวนสมาชิกวงแชร์รวมกันทุกวงมากกว่าสามสิบคน โดยเป็นนายวงแชร์และจัดให้มีการเล่นแชร์พร้อมกับวงแชร์อื่นหลายวงมากกว่าสามวง และมีสมาชิกวงแชร์รวมกันทุกวงมากกว่าสามสิบคน แต่ในคำฟ้องโจทก์ที่บรรยายพฤติการณ์การกระทำความผิดของจำเลยให้เห็นว่า จำเลยเพียงแต่อ้างการจัดให้มีการเล่นแชร์มาเป็นข้อหลอกลวงเพื่อให้ได้เงินค่างวดแชร์จากผู้เสียหายหรือผู้อื่น จำเลยมิได้มีเจตนาจัดให้มีการเล่นแชร์ตามข้อกล่าวอ้างอันเป็นองค์ประกอบความผิดต่อ พ.ร.บ.การเล่นแชร์ พ.ศ. 2534 มาตรา 6 (1) (2) จึงฟังไม่ได้ว่าเป็นการเล่นแชร์ตาม พ.ร.บ.การเล่นแชร์ พ.ศ. 2534 มาตรา 4 แม้จำเลยให้การรับสารภาพ แต่เมื่อพฤติการณ์การกระทำความผิดของจำเลยตามฟ้องมีเจตนาแท้จริงคือหลอกลวงฉ้อโกงประชาชนด้วยแสดงข้อความอันเป็นเท็จว่าเป็นวงแชร์ที่ให้ผลตอบแทนโดยไม่มีเจตนาจ่ายผลตอบแทนจริงและไม่มีการเปียหรือประมูลแชร์แต่อย่างใด ที่โจทก์บรรยายมาในคำฟ้องไม่อาจถือเป็นความผิดตามบทกฎหมายดังกล่าวได้ ย่อมไม่อาจลงโทษจำเลยในความผิดข้อหาดังกล่าวได้

สำนักงานกฎหมายปรัชญาเศรษฐ์ทนายความ Copyright © 2021. All rights reserved.