วางเงินชดใช้ค่าเสียหาย สิทธินำคดีอาญามาฟ้องในความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงโดยแสดงตนเป็นคนอื่นจะระงับไปหรือไม่

วางเงินชดใช้ค่าเสียหาย สิทธินำคดีอาญามาฟ้องในความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงโดยแสดงตนเป็นคนอื่นจะระงับไปหรือไม่

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91, 188, 264, 265, 268, 341, 342 ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนโทรศัพท์เคลื่อนที่ 3 เครื่อง หรือใช้ราคาแทนเป็นเงิน 93,900 บาท แก่ผู้เสียหายที่ 2

ระหว่างพิจารณาบริษัท อ. ผู้เสียหายที่ 2 ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต

จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ จำเลยที่ 2 ให้การปฏิเสธ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้โจทก์แยกฟ้องจำเลยที่ 2 เข้าเป็นคดีใหม่ ให้จำหน่ายคดีโจทก์เฉพาะจำเลยที่ 2 ออกจากสารบบความ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 188, 264 วรรคแรก, 265, 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 264 วรรคแรก และมาตรา 265, 341, 342 ประกอบมาตรา 83 การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานร่วมกันเอาไปเสียซึ่งเอกสารของผู้อื่น ฐานร่วมกันปลอมเอกสารสิทธิ ฐานร่วมกันใช้เอกสารปลอมและใช้เอกสารสิทธิปลอม และฐานร่วมกันฉ้อโกงโดยแสดงตนเป็นคนอื่น เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานร่วมกันปลอมเอกสารสิทธิและฐานใช้เอกสารสิทธิปลอม ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำเลยที่ 1 กับพวกร่วมกันปลอมเอกสารสิทธินั้นเอง ให้ลงโทษฐานร่วมกันใช้เอกสารสิทธิปลอมแต่กระทงเดียวตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 วรรคสอง จำคุกกระทงละ 1 ปี รวม 3 กระทง จำคุก 3 ปี จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 1 ปี 6 เดือน (ที่ถูก 18 เดือน) ให้จำเลยที่ 1 คืนโทรศัพท์เคลื่อนที่ 3 เครื่อง หรือใช้ราคาแทนเป็นเงิน 93,900 บาท แก่โจทก์ร่วม

จำเลยที่ 1 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า การกระทำความผิดตามฟ้องข้อ 1 ถึงข้อ 5 จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 188 (เดิม), 264 วรรคแรก (เดิม), 265 (เดิม), 268 วรรคแรก (เดิม) ประกอบมาตรา 264 วรรคแรก (เดิม) และมาตรา 265 (เดิม), 341 (เดิม), 342 (1) (เดิม) ประกอบมาตรา 83 การกระทำความผิดตามฟ้องข้อ 6 ถึงข้อ 9 จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 188 (ที่แก้ไขใหม่), 264 วรรคแรก (ที่แก้ไขใหม่), 265 (ที่แก้ไขใหม่), 268 วรรคแรก (ที่แก้ไขใหม่) ประกอบมาตรา 264 วรรคแรก (ที่แก้ไขใหม่) และมาตรา 265 (ที่แก้ไขใหม่), 341 (ที่แก้ไขใหม่), 342 (1) (ที่แก้ไขใหม่) ประกอบมาตรา 83 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

จำเลยที่ 1 ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า สิทธินำคดีอาญามาฟ้องในความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงโดยแสดงตนเป็นคนอื่นระงับไปแล้วหรือไม่ เห็นว่า หลังจากศาลอุทธรณ์ภาค 1 มีคำพิพากษา จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องว่าได้วางเงินเพื่อชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ร่วมจำนวน 70,000 บาท ผู้รับมอบอำนาจโจทก์ร่วมแถลงว่าเมื่อจำเลยที่ 1 วางเงินชำระค่าเสียหายแล้ว โจทก์ร่วมก็ไม่ติดใจดำเนินคดีแพ่งและอาญาต่อจำเลยที่ 1 อีกต่อไป ปรากฏตามรายงานกระบวนพิจารณาวันนัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ลงวันที่ 8 กันยายน 2563 ถือได้ว่าโจทก์ร่วมและจำเลยที่ 1 ยอมความกันโดยถูกต้องตามกฎหมายในความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงโดยแสดงตนเป็นคนอื่นซึ่งเป็นความผิดต่อส่วนตัวก่อนคดีถึงที่สุด สิทธินำคดีอาญามาฟ้องในความผิดฐานดังกล่าวจึงระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (2) และย่อมทำให้คำขอในส่วนแพ่งของโจทก์ที่ให้จำเลยที่ 1 คืนโทรศัพท์เคลื่อนที่ 3 เครื่อง หรือใช้ราคาแทนเป็นเงินจำนวน 93,900 บาท แก่โจทก์ร่วมตกไปด้วย ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 225

ปัญหาต่อไปที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 มีว่า สมควรรอการลงโทษให้แก่จำเลยที่ 1 หรือไม่ เห็นว่า แม้พฤติการณ์ในการกระทำผิดของจำเลยที่ 1 เป็นเรื่องที่ร้ายแรง แต่ในส่วนความผิดที่จำเลยที่ 1 กระทำต่อผู้เสียหายที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ซึ่งมีความเกี่ยวพันกับจำเลยที่ 1 โดยผู้เสียหายที่ 1 เป็นน้องสาวของบิดาเลี้ยง ส่วนผู้เสียหายที่ 3 เป็นบิดาเลี้ยง และผู้เสียหายที่ 4 เป็นมารดา จึงเป็นการกระทำความผิดที่จำกัดอยู่ในกลุ่มคนที่รู้จักคุ้นเคยกับจำเลยที่ 1 ซึ่งจำเลยที่ 1 ได้ไปขอขมา และผู้เสียหายดังกล่าวได้ให้อภัยไม่ติดใจดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 1 แล้ว ในส่วนของโจทก์ร่วม จำเลยที่ 1 ก็ได้ชดใช้ค่าเสียหายจนเป็นที่พอใจไม่ติดใจดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 1 อีกต่อไปเช่นกัน นับว่าจำเลยที่ 1 รู้สำนึกในการกระทำความผิดและพยายามบรรเทาผลร้ายที่เกิดขึ้นตามสมควรแล้ว พฤติการณ์แห่งคดีในระหว่างพิจารณาของศาลฎีกาจึงเปลี่ยนแปลงไป เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 เคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน ตลอดจนนิสัยและความประพฤติทั่วไปไม่ปรากฏข้อเสียหายร้ายแรง การให้โอกาสจำเลยที่ 1 ได้กลับตนเป็นพลเมืองดีน่าจะเป็นผลดีและเป็นประโยชน์แก่จำเลยที่ 1 และสังคมมากกว่าการลงโทษจำคุกไปเสียทีเดียว กรณีจึงมีเหตุสมควรรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยที่ 1 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ไม่รอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยที่ 1 นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังขึ้น แต่เพื่อให้จำเลยที่ 1 หลาบจำเห็นสมควรลงโทษปรับอีกสถานหนึ่งและคุมความประพฤติของจำเลยที่ 1 ไว้ด้วย

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำหน่ายคดีสำหรับจำเลยที่ 1 เฉพาะความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงโดยแสดงตนเป็นคนอื่นเสียจากสารบบความ การกระทำความผิดตามฟ้อง ข้อ 1 ข้อ 2 ข้อ 4 และข้อ 5 จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 188 (เดิม), 264 วรรคแรก (เดิม), 265 (เดิม), 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 264 วรรคแรก (เดิม), 265 (เดิม) ประกอบมาตรา 83 การกระทำความผิดตามฟ้องข้อ 7 และข้อ 8 จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 188 (ที่แก้ไขใหม่), 264 วรรคแรก (ที่แก้ไขใหม่), 265 (ที่แก้ไขใหม่), 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 264 วรรคแรก (ที่แก้ไขใหม่), 265 (ที่แก้ไขใหม่) ประกอบมาตรา 83 การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานร่วมกันเอาไปเสียซึ่งเอกสารของผู้อื่น ฐานร่วมกันปลอมเอกสารและเอกสารสิทธิ ฐานร่วมกันใช้เอกสารปลอมและใช้เอกสารสิทธิปลอม เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานร่วมกันปลอมเอกสารสิทธิและฐานใช้เอกสารสิทธิปลอม ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 เนื่องจากจำเลยที่ 1 เป็นผู้ปลอมเอกสารสิทธิและใช้เอกสารสิทธิปลอมนั้นเอง จึงให้ลงโทษฐานร่วมกันใช้เอกสารสิทธิปลอมแต่กระทงเดียวตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 265 (เดิม) มาตรา 265 (ที่แก้ไขใหม่) ตามมาตรา 268 วรรคสอง ให้ลงโทษปรับจำเลยที่ 1 กระทงละ 10,000 บาท อีกสถานหนึ่ง รวม 3 กระทง เป็นปรับ 30,000 บาท ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงปรับ 15,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 2 ปี และคุมความประพฤติของจำเลยที่ 1 ไว้มีกำหนด 1 ปี นับแต่วันที่อ่านคำพิพากษาศาลฎีกาให้จำเลยที่ 1 ฟัง โดยให้จำเลยที่ 1 ไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติ 4 ครั้ง ตามเงื่อนไขและกำหนดระยะเวลาที่พนักงานคุมประพฤติเห็นสมควร กับให้จำเลยที่ 1 กระทำกิจกรรมบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์ตามที่พนักงานคุมประพฤติเห็นสมควรมีกำหนด 12 ชั่วโมง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ยกคำขอให้จำเลยที่ 1 คืนโทรศัพท์เคลื่อนที่ 3 เครื่อง หรือใช้ราคาแทนเป็นเงิน 93,900 บาท แก่โจทก์ร่วม นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1

สรุป

หลังจากศาลอุทธรณ์ภาค 1 มีคำพิพากษา จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องว่าได้วางเงินเพื่อชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ร่วมจำนวน 70,000 บาท ผู้รับมอบอำนาจโจทก์ร่วมแถลงว่า เมื่อจำเลยที่ 1 วางเงินชำระค่าเสียหายแล้ว โจทก์ร่วมก็ไม่ติดใจดำเนินคดีแพ่งและอาญาต่อจำเลยที่ 1 อีกต่อไป ตามรายงานกระบวนพิจารณาวันนัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ถือได้ว่าโจทก์ร่วมและจำเลยที่ 1 ยอมความกันโดยถูกต้องตามกฎหมายในความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงโดยแสดงตนเป็นคนอื่นซึ่งเป็นความผิดต่อส่วนตัวก่อนคดีถึงที่สุด สิทธินำคดีอาญามาฟ้องในความผิดฐานดังกล่าวจึงระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (2) และย่อมทำให้คำขอในส่วนแพ่งของโจทก์ที่ให้จำเลยที่ 1 คืนโทรศัพท์เคลื่อนที่หรือใช้ราคาแทนแก่โจทก์ร่วมตกไปด้วย ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 225

สำนักงานกฎหมายปรัชญาเศรษฐ์ทนายความ Copyright © 2021. All rights reserved.