สมคบกันเพื่อกระทำความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน ศาลฎีกาวางหลักไว้อย่างไร

สมคบกันเพื่อกระทำความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน ศาลฎีกาวางหลักไว้อย่างไร

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91, 210, 213, 341, 342, 343 พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ พ.ศ.2556 มาตรา 3, 5, 6, 7, 25 ให้จำเลยร่วมกันคืนหรือชดใช้เงินที่ยังไม่ได้คืนแก่ผู้เสียหายที่ 1 จำนวน 100,000 บาท แก่ผู้เสียหายที่ 2 จำนวน 500,000 บาท แก่ผู้เสียหายที่ 3 จำนวน 3,500,000 บาท แก่ผู้เสียหายที่ 4 จำนวน 396,000 บาท

จำเลยให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 210 วรรคแรก ประกอบมาตรา 213 และมาตรา 343 วรรคสอง ประกอบมาตรา 342 (1) พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ พ.ศ.2556 มาตรา 5 (1) (2) (3) (4), 7, 25 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ความผิดฐานเป็นซ่องโจร ฐานมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติและความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงประชาชนโดยแสดงตนเป็นคนอื่น เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 4 ปี ทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้าง นับเป็นเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสี่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 3 ปี ให้จำเลยร่วมกันคืนหรือชดใช้เงินที่ยังไม่ได้คืนแก่ผู้เสียหายที่ 4 จำนวน 396,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์เพียงประการเดียวว่า ความผิดฐานเป็นซ่องโจร และความผิดฐานมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติกับความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน ตามคำฟ้องข้อ 1.1 และข้อ 1.5 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกันหรือไม่ เห็นว่า ความผิดฐานเป็นซ่องโจร กับความผิดฐานมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติต่างเป็นการสมคบกับเพื่อกระทำความผิดเหมือนกัน เพียงแต่ต่างกันที่ประเภทของความผิด การกระทำของจำเลยในความผิดทั้งสองฐานนี้จึงมีจุดมุ่งหมายเดียวกัน ประกอบกับโจทก์บรรยายองค์ประกอบความผิดทั้งสองฐานนี้รวมกันมาในคำฟ้องข้อ 1.1 แสดงว่ามุ่งประสงค์ให้ลงโทษเป็นกรรมเดียว การกระทำความผิดทั้งสองฐานนี้จึงเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90

มีปัญหาต่อไปว่าความผิดทั้งสองฐานข้างต้นกับความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน เป็นการกระทำอันเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทหรือเป็นการกระทำอันเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน เห็นว่า ความผิดฐานเป็นซ่องโจรกับความผิดฐานมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาตินั้นเป็นความผิดเกี่ยวกับความสงบสุขของประชาชน กฎหมายบัญญัติขึ้นเพื่อเอาผิดแก่ผู้ที่สมคบกันเพื่อจะกระทำความผิดตามกฎหมายอื่น การกระทำดังกล่าวเป็นความผิดสำเร็จตั้งแต่มีการสมคมกันแล้วโดยยังไม่ต้องลงมือกระทำความผิดอื่นอีก ดังนี้การกระทำความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน ตามคำฟ้องข้อ 1.5 แม้จะคาบเกี่ยวอยู่ในช่วงเวลาการกระทำความผิดในคำฟ้องข้อ 1.1 ด้วยก็เป็นที่เห็นได้ว่าจะต้องมีการสมคบกันเพื่อกระทำความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนเสียก่อนอันเป็นความผิดสำเร็จแล้วจึงจะมีการลงมือกระทำความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนต่อจากนั้นไปซึ่งเป็นการกระทำที่แยกต่างหากจากกัน เป็นการกระทำการอันเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 วินิจฉัยว่าความผิดตามคำฟ้อง ข้อ 1.1 และข้อ 1.5 เป็นการกระทำอันเป็นกรรมเดียวนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน

พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 210 วรรคแรก ประกอบมาตรา 213 และมาตรา 343 วรรคสอง ประกอบมาตรา 342 (1) พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ พ.ศ.2556 มาตรา 5 (1) (2) (3) (4), 7, 25 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ความผิดฐานเป็นซ่องโจรกับฐานมีส่วนร่วมในองค์การอาชญากรข้ามชาติเป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 4 ปี ความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงประชาชนโดยแสดงตนเป็นคนอื่นกับความผิดฐานเป็นซ่องโจรกับความผิดตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 จำคุก 1 ปี รวมจำคุก 5 ปี เมื่อลดโทษให้หนึ่งในสี่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้ว คงจำคุก 3 ปี 9 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5

สำนักงานกฎหมายปรัชญาเศรษฐ์ทนายความ Copyright © 2021. All rights reserved.