สิทธินำคดีอาญามาฟ้องระงับในคดีหมิ่นประมาทเกิดเมื่อใด

โจทก์ฟ้องและแก้คำฟ้องขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 326 และให้ชดใช้ค่าเสียหาย 300,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระให้แก่โจทก์ครบถ้วน

ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่า คดีไม่มีมูลให้ยกฟ้องและไม่รับฟ้องคดีส่วนแพ่งไว้พิจารณา

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษากลับ ให้ประทับฟ้อง และรับฟ้องคดีส่วนแพ่งไว้พิจารณา ค่าฤชาธรรมเนียมในคดีส่วนแพ่งทั้งสองศาลให้ศาลชั้นต้นรวมสั่งเมื่อมีคำพิพากษาใหม่

จำเลยให้การปฏิเสธ และให้การในคดีส่วนแพ่งขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 จำคุก 2 เดือน และปรับ 20,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 1 ปี และให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นเงิน 150,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 17 พฤษภาคม 2560 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ค่าฤชาธรรมเนียมในคดีส่วนแพ่งในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ให้เป็นพับ

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในส่วนคดีแพ่งในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นในชั้นนี้รับฟังได้ว่า โจทก์รับราชการในตำแหน่งนักพัฒนาชุมชนปฏิบัติการ เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2560 โจทก์กับจำเลยทำบันทึกการไกล่เกลี่ยยอมความ ที่สถานีตำรวจภูธรเขาคิชฌกูฏ สำหรับข้อหาความผิดที่โจทก์ฟ้องในข้อ 2.2 นั้น ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ข้อความที่จำเลยพูดต่อบุคลากรในสำนักงานตำบลแสลงตามแอปพลิเคชันไลน์ว่า “พี่มนเป็นกิ๊กกับมัน” และพูดว่า “มันพูดกับเพื่อนที่พลับพลานารายณ์ คือ มันมีอะไรกันแล้วต้องพาไปทำแท้งที่กรุงเทพ” เป็นเพียงพยานบอกเล่า ไม่มีน้ำหนักให้รับฟังลงโทษจำเลยในข้อหาดังกล่าว คู่ความไม่อุทธรณ์จึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยในปัญหาข้อกฎหมายตามฎีกาของจำเลยเพียงประการเดียวว่า สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ระงับไป ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (2) หรือไม่ เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 บัญญัติว่า “สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปดังต่อไปนี้…(2) ในคดีความผิดต่อส่วนตัว เมื่อได้ถอนคำร้องทุกข์ ถอนฟ้องหรือยอมความกันโดยถูกต้องตามกฎหมาย…” และตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 333 วรรคแรก ซึ่งบัญญัติอยู่ในหมวดความผิดฐานหมิ่นประมาทว่า “ความผิดในหมวดนี้เป็นความผิดอันยอมความได้…” ดังนั้น ความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 ซึ่งบัญญัติอยู่ในหมวดความผิดฐานหมิ่นประมาทที่โจทก์ฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ จึงเป็นความผิดต่อส่วนตัวซึ่งยอมความกันได้ เมื่อปรากฏว่าข้อเท็จจริงตามบันทึกการไกล่เกลี่ยยอมความ ข้อ 1 กำหนดว่า โจทก์ต้องการให้จำเลยถอนค้ำประกัน 1,500,000 บาท โดยให้เปลี่ยนบุคคลอื่นค้ำประกันแทนภายในเดือนเมษายน 2560 และข้อ 4 กำหนดว่า หากจำเลยไม่หาคนเปลี่ยนค้ำประกันได้ภายในเดือนเมษายน 2560 โจทก์จะนำคดีหมิ่นประมาทนี้มาดำเนินคดีกับจำเลยภายในอายุความ แสดงให้เห็นว่าโจทก์ไม่ได้มีเจตนาจะสละสิทธิในการดำเนินคดีอาญาแก่จำเลยในทันที แต่กลับมีเงื่อนไขกำหนดให้จำเลยเปลี่ยนตัวผู้ค้ำประกันเงินกู้จากโจทก์เป็นบุคคลอื่นเป็นผู้ค้ำประกันแทนให้แล้วเสร็จโดยมีกำหนดเวลาให้จำเลยดำเนินการให้เสร็จสิ้นภายในเดือนเมษายน 2560 หากจำเลยไม่ดำเนินการโจทก์จะดำเนินคดีฐานหมิ่นประมาทแก่จำเลยภายในอายุความ ที่จำเลยฎีกาว่า เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2560 ธนาคาร ก. ทำหนังสือแจ้งจำเลยว่าจำเลยได้รับการอนุมัติการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขจากสำนักงานใหญ่แล้ว เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2560 โดยเปลี่ยนตัวผู้ค้ำประกันจากโจทก์เป็นนางรจนาเป็นการที่จำเลยปฏิบัติตามบันทึกการไกล่เกลี่ยยอมความ ข้อ 1 แล้ว เห็นว่า หลังจากที่โจทก์และจำเลยทำบันทึกการไกล่เกลี่ยยอมความ จนกระทั่งถึงปัจจุบันนี้ก็ไม่ปรากฏว่าจำเลยได้เปลี่ยนตัวผู้ค้ำประกันเงินกู้จากโจทก์เป็นนางรจนาหรือบุคคลอื่นแทนโจทก์ การที่จำเลยดำเนินการขออนุมัติเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขในตัวผู้ค้ำประกันเงินกู้ของจำเลยต่อธนาคาร ก. จากโจทก์เป็นนางรจนาก็เป็นขั้นตอนส่วนหนึ่งที่จำเลยมีหน้าที่ต้องดำเนินการให้เป็นไปตามบันทึกการไกล่เกลี่ยยอมความ แต่เมื่อจำเลยยังไม่ได้ดำเนินการเปลี่ยนตัวผู้ค้ำประกันเงินกู้เป็นบุคคลอื่นแทนโจทก์เช่นนี้ แสดงให้เห็นว่าจำเลยไม่ได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ได้ตกลงกันไว้กับโจทก์ดังกล่าว กรณีจึงยังถือไม่ได้ว่าเป็นการยอมความตามกฎหมายอันจะทำให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องเป็นอันระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (2) ดังนั้น สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์จึงยังไม่ระงับ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษามานั้นชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น

อนึ่ง ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา มีการประกาศใช้พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ. 2564 ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 โดยมาตรา 3 และมาตรา 4 แห่งพระราชกำหนดดังกล่าวให้ยกเลิกความในมาตรา 7 และมาตรา 224 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์และให้ใช้ความใหม่แทน เป็นผลให้ดอกเบี้ยผิดนัดปรับเปลี่ยนจากอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี เป็นอัตราร้อยละ 5 ต่อปี หรืออัตราดอกเบี้ยใหม่ที่กระทรวงการคลังปรับเปลี่ยนโดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกาบวกด้วยอัตราเพิ่มร้อยละสองต่อปี ทำให้ดอกเบี้ยผิดนัดของค่าสินไหมทดแทนซึ่งเป็นหนี้เงินที่ถึงกำหนดชำระตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 ต้องปรับเปลี่ยนจากอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี เป็นอัตราร้อยละ 5 ต่อปี ดังนี้ เมื่อปัญหาเรื่องอัตราดอกเบี้ยขัดต่อกฎหมายหรือไม่เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและกำหนดดอกเบี้ยให้ถูกต้องตามพระราชกำหนดดังกล่าวได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 252 และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 40

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นเงิน 150,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 17 พฤษภาคม 2560 จนถึงวันที่ 10 เมษายน 2564 หลังจากนั้นให้ชำระอัตราร้อยละ 5 ต่อปี เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ทั้งนี้ หากกระทรวงการคลังปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยโดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกาเมื่อใด ก็ให้ปรับเปลี่ยนไปตามนั้น แต่ต้องไม่เกินอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีตามขอ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2

สรุป

ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 บัญญัติว่า “สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปดังต่อไปนี้…(2) ในคดีความผิดต่อส่วนตัว เมื่อได้ถอนคำร้องทุกข์ ถอนฟ้องหรือยอมความกันโดยถูกต้องตามกฎหมาย….” และตาม ป.อ. มาตรา 333 วรรคหนึ่ง ซึ่งบัญญัติอยู่ในหมวดความผิดฐานหมิ่นประมาทว่า “ความผิดในหมวดนี้เป็นความผิดอันยอมความได้…” ดังนั้น ความผิดฐานหมิ่นประมาทตาม ป.อ. มาตรา 326 ซึ่งบัญญัติอยู่ในหมวดความผิดฐานหมิ่นประมาท ที่โจทก์ฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ จึงเป็นความผิดต่อส่วนตัวซึ่งยอมความกันได้ เมื่อปรากฏว่า ข้อเท็จจริงตามบันทึกการไกล่เกลี่ยยอมความ ข้อ 1 กำหนดว่า โจทก์ต้องการให้จำเลยถอนค้ำประกัน 1,500,000 บาท โดยให้เปลี่ยนบุคคลอื่นค้ำประกันแทนภายในเดือนเมษายน 2560 และข้อ 4 กำหนดว่า หากจำเลยไม่หาคนเปลี่ยนค้ำประกันได้ภายในเดือนเมษายน 2560 โจทก์จะนำคดีหมิ่นประมาทนี้มาดำเนินคดีกับจำเลยภายในอายุความ แสดงให้เห็นว่าโจทก์ไม่ได้มีเจตนาจะสละสิทธิในการดำเนินคดีอาญาแก่จำเลยในทันที แต่กลับมีเงื่อนไขกำหนดให้จำเลยเปลี่ยนตัวผู้ค้ำประกันเงินกู้จากโจทก์เป็นบุคคลอื่นเป็นผู้ค้ำประกันแทนให้แล้วเสร็จโดยมีกำหนดเวลาให้จำเลยดำเนินการให้เสร็จสิ้นภายในเดือนเมษายน 2560 หากจำเลยไม่ดำเนินการโจทก์จะดำเนินคดีฐานหมิ่นประมาทแก่จำเลยภายในอายุความ เมื่อปรากฎว่าจนกระทั่งถึงปัจจุบันนี้จำเลยยังมิได้เปลี่ยนตัวผู้ค้ำประกันเงินกู้จากโจทก์เป็น ร. หรือบุคคลอื่นแทนโจทก์ การที่จำเลยดำเนินการขออนุมัติเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขในตัวผู้ค้ำประกันเงินกู้ของจำเลยต่อธนาคาร ก. จากโจทก์เป็น ร. ก็เป็นขั้นตอนส่วนหนึ่งที่จำเลยมีหน้าที่ต้องดำเนินการให้เป็นไปตามบันทึกการไกล่เกลี่ยยอมความ แต่เมื่อจำเลยยังไม่ได้ดำเนินการเปลี่ยนตัวผู้ค้ำประกันเงินกู้เป็นบุคคลอื่นแทนโจทก์เช่นนี้ แสดงให้เห็นว่าจำเลยไม่ได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ได้ตกลงกันไว้ในระหว่างโจทก์ดังกล่าว กรณีจึงยังถือไม่ได้ว่าเป็นการยอมความตามกฎหมาย อันจะทำให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องเป็นอันระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (2)

สำนักงานกฎหมายปรัชญาเศรษฐ์ทนายความ Copyright © 2021. All rights reserved.