หลอกลวงด้วยการแสดง ข้อความอันเป็นเท็จ ศาลฎีกาวางหลักไว้อย่างไร

หลอกลวงด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จศาลฎีกาวางหลักไว้อย่างไร

โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสี่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 341, 343 พระราชบัญญัติธุรกิจสถาบันการเงิน พ.ศ.2551 มาตรา 4, 9, 12, 121, 123 ให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันคืนเงินแก่ผู้เสียหายที่ 1 ถึงที่ 3 และที่ 6 ถึงที่ 13 ตามบัญชีทรัพย์ถูกประทุษร้ายไม่ได้คืนท้ายฟ้อง

จำเลยทั้งสี่ให้การปฏิเสธ

ระหว่างพิจารณา นาง ต. ผู้เสียหายที่ 1 นาย ห. ผู้เสียหายที่ 2 นาย น. ผู้เสียหายที่ 11 และนาย ว. ผู้เสียหายที่ 3 ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาตเฉพาะความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงประชาชน ส่วนความผิดต่อพระราชบัญญัติธุรกิจสถาบันการเงิน รัฐเป็นผู้เสียหาย จึงไม่อนุญาต ต่อมานาย น. ถึงแก่ความตาย นาง ม. บุตรของนาย น. ยื่นคำร้องขอเข้าดำเนินคดีต่างผู้ตาย ศาลชั้นต้นอนุญาต

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสี่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343 วรรคแรก (ที่ถูก มาตรา 343 วรรคแรก (เดิม)) พระราชบัญญัติธุรกิจสถาบันการเงิน พ.ศ.2551 มาตรา 9 วรรคหนึ่ง, 12 วรรคหนึ่ง, 121, 123 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 การกระทำของจำเลยทั้งสี่เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานร่วมกันประกอบธุรกิจเงินทุนโดยไม่ได้รับอนุญาตซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกคนละ 8 ปี ลดโทษให้หนึ่งในสี่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกคนละ 6 ปี ให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันใช้เงินคืนแก่โจทก์ร่วมที่ 1 จำนวน 900,000 บาท โจทก์ร่วมที่ 2 จำนวน 875,000 บาท โจทก์ร่วมที่ 3 จำนวน 1,100,100 บาท โจทก์ร่วมที่ 4 จำนวน 1,825,000 บาท ผู้เสียหายที่ 6 จำนวน 164,450 บาท ผู้เสียหายที่ 7 จำนวน 142,100 บาท ผู้เสียหายที่ 8 จำนวน 50,000 บาท ผู้เสียหายที่ 9 จำนวน 269,500 บาท ผู้เสียหายที่ 10 จำนวน 134,600 บาท ผู้เสียหายที่ 12 จำนวน 93,500 บาท และผู้เสียหายที่ 13 จำนวน 750,000 บาท

โจทก์ร่วมที่ 4 จำเลยที่ 1 และที่ 2 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายืน

จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยที่ 1 และที่ 2 มีว่า ฟ้องโจทก์ครบองค์ประกอบความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงประชาชนหรือไม่ เห็นว่า แม้การหลอกลวงของจำเลยทั้งสี่ตามฟ้องเป็นเรื่องที่ต้องดำเนินการต่อไป แต่การดำเนินการดังกล่าวได้เริ่มขึ้นแล้วด้วยการที่จำเลยทั้งสี่ร่วมกันแสดงโครงการออกโฆษณาต่อประชาชนอันเป็นความเท็จ ซึ่งเชื่อมโยงกับที่จำเลยทั้งสี่จะดำเนินการต่อไป กรณีถือว่าเป็นการหลอกลวงด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จแล้ว ฟ้องโจทก์จึงครบองค์ประกอบความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงประชาชน ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) ฎีกาจำเลยที่ 1 และที่ 2 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยที่ 1 และที่ 2 ข้อต่อไปมีว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 กระทำความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงประชาชนหรือไม่ โดยจำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกาว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่มีเจตนากระทำความผิดนั้น เห็นว่า แม้จำเลยที่ 1 และที่ 2 มิได้ชักชวนให้โจทก์ร่วมทั้งสี่กับผู้เสียหายที่ 4 ถึงที่ 10 ที่ 12 และที่ 13 บางรายฝากเงินร่วมลงทุนเพื่อรับเงินปันผลกับกองทุนออมทรัพย์ อ. และจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ฝากเงินร่วมลงทุนเพื่อรับเงินปันผลกับกองทุนออมทรัพย์ อ. ก็ตาม แต่พฤติการณ์ที่ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 1 เป็นประธานที่ปรึกษากองทุนออมทรัพย์ อ. และชักชวนโจทก์ร่วมที่ 1 กับผู้เสียหายที่ 2 ที่ 4 ถึงที่ 8 และที่ 10 ให้ฝากเงินร่วมลงทุนเพื่อรับเงินปันผล ส่วนจำเลยที่ 2 เป็นประธานกรรมการบริหารกองทุนออมทรัพย์ อ. และชักชวนโจทก์ร่วมที่ 1 และที่ 3 กับผู้เสียหายที่ 4 และที่ 5 ให้ฝากเงินร่วมลงทุนเพื่อรับเงินปันผล แสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 มีเจตนาร่วมกับจำเลยที่ 3 และที่ 4 ชักชวนให้ประชาชนทั่วไปที่นับถือศาสนาอิสลามนำเงินมาร่วมลงทุนเพื่อรับเงินปันผลกับกองทุนออมทรัพย์ อ. โดยวิธีการฝากเงินตั้งแต่ต้น ซึ่งการฝากเงินร่วมลงทุนเพื่อรับเงินปันผลดังกล่าว จำเลยที่ 1 และที่ 2 ต้องแจ้งให้ผู้นำเงินมาฝากรวมทั้งโจทก์ร่วมทั้งสี่กับผู้เสียหายที่ 4 ถึงที่ 10 ที่ 12 และที่ 13 ทราบว่า โครงการที่กองทุนออมทรัพย์ อ. จะลงทุนมีรายละเอียดอย่างไรบ้าง จำนวนเงินที่จะลงทุนแต่ละโครงการเป็นจำนวนเท่าใด ผลประกอบการที่จะเกิดขึ้นแต่ละโครงการเป็นอย่างไร และเงินปันผลที่กองทุนออมทรัพย์ อ. จะนำมาจ่ายให้แก่ผู้นำเงินมาฝากคิดคำนวณอย่างไร การที่จำเลยทั้งสี่แจ้งโครงการที่กองทุนออมทรัพย์ อ. จะลงทุนให้โจทก์ร่วมทั้งสี่และผู้เสียหายบางคนทราบ และพาโจทก์ร่วมทั้งสี่และผู้เสียหายบางคนไปดูโครงการฟาร์มเลี้ยงวัวเท่านั้น ซึ่งแม้โจทก์ร่วมทั้งสี่และผู้เสียหายบางคนจะได้ทราบถึงโครงการที่กองทุนออมทรัพย์ อ. จะลงทุน แต่จำเลยทั้งสี่ก็ไม่ได้แจ้งรายละเอียดการลงทุนแต่ละโครงการ จำนวนเงินที่ลงทุน ผลประกอบการที่จะได้รับจากการลงทุน คงมุ่งเน้นแต่เงินปันผลที่จะได้รับจากการนำเงินมาฝากร่วมลงทุนกับกองทุนออมทรัพย์ อ. เท่านั้น และหลังจากนั้นโจทก์ร่วมทั้งสี่กับผู้เสียหายที่ 4 ถึงที่ 10 ที่ 12 และที่ 13 ก็ได้รับเงินปันผลจากกองทุนออมทรัพย์ อ. บ่งชี้ให้เห็นว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ต้องการให้โจทก์ร่วมทั้งสี่กับผู้เสียหายที่ 4 ถึงที่ 10 ที่ 12 และที่ 13 นำเงินมาฝากกับกองทุนออมทรัพย์ อ. โดยมิได้คำนึงว่าโจทก์ร่วมทั้งสี่กับผู้เสียหายที่ 4 ถึงที่ 10 ที่ 12 และที่ 13 จะรู้หรือไม่ว่ากองทุนออมทรัพย์ อ. จะนำเงินฝากของโจทก์ร่วมทั้งสี่กับผู้เสียหายที่ 4 ถึงที่ 10 ที่ 12 และที่ 13 ไปลงทุนจริงแล้วได้รับผลกำไรหรือขาดทุนจริงหรือไม่เท่านั้น ประกอบกับเมื่อพิจารณาถึงข้อพิรุธในการนำเงินของกองทุนออมทรัพย์ อ. ไปลงทุนตามรายงาน ดังที่ศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยให้เหตุผลไว้โดยละเอียดและถูกต้องแล้วว่าไม่เชื่อว่ากองทุนออมทรัพย์ อ. จะนำเงินที่สมาชิกร่วมลงทุนทั้งหมดไปใช้ในกิจการตามโฆษณาจริง ส่วนที่กองทุนออมทรัพย์ อ. ดำเนินกิจการโครงการบางโครงการ เช่น โครงการฟาร์มเลี้ยงวัว จัดสรรที่ดิน และ อ. ศูนย์รวมช่าง เชื่อว่าเป็นการจัดฉากให้ประชาชนนำเงินมาลงทุนกับกองทุนออมทรัพย์ อ. ฟังไม่ได้ว่า กองทุนออมทรัพย์ อ. นำเงินของสมาชิกไปลงทุนในกิจการและมีผลกำไรตามที่โฆษณาไว้ ซึ่งศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย และแม้ศาลฎีกาจะวินิจฉัยอีกก็ไม่ทำให้การรับฟังข้อเท็จจริงดังกล่าวเปลี่ยนแปลงไป จึงไม่จำต้องวินิจฉัยซ้ำ พยานหลักฐานที่โจทก์และโจทก์ร่วมทั้งสี่นำสืบจึงมีน้ำหนักมั่นคงรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 มีเจตนาหลอกลวงโจทก์ร่วมทั้งสี่กับผู้เสียหายที่ 4 ถึงที่ 10 ที่ 12 และที่ 13 ให้นำเงินไปฝากกับกองทุนออมทรัพย์ อ. โดยไม่มีการนำเงินฝากของโจทก์ร่วมทั้งสี่กับผู้เสียหายที่ 4 ถึงที่ 10 ที่ 12 และที่ 13 ไปลงทุนตามที่โฆษณาชักชวนไว้จริง จำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงมีความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงประชาชน ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาจำเลยที่ 1 และที่ 2 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยที่ 1 และที่ 2 ข้อต่อไปมีว่า ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 ไม่วินิจฉัยอุทธรณ์ข้ออื่นของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ชอบหรือไม่ เห็นว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 9 ได้วินิจฉัยประเด็นอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 และที่ 2 เกี่ยวกับการนำเงินของกองทุนออมทรัพย์ อ. ไปลงทุนในโครงการต่าง ๆ โดยเห็นพ้องกับคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้น มิใช่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 มิได้วินิจฉัยประเด็นดังกล่าวดังที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกา ทั้งศาลอุทธรณ์ภาค 9 จะวินิจฉัยประเด็นดังกล่าวอย่างไรย่อมเป็นดุลพินิจของศาลอุทธรณ์ภาค 9 ส่วนประเด็นอื่นนั้นการที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 จะวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ประเด็นใดนั้นก็เป็นดุลพินิจของศาลอุทธรณ์ภาค 9 ที่จะพิจารณาว่าอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นประเด็นที่สำคัญที่ต้องวินิจฉัยก่อนและรับฟังได้หรือไม่ เพียงใด เช่นกัน ไม่จำเป็นที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 จะต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ทุกประเด็น ซึ่งเมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 9 วินิจฉัยประเด็นที่สำคัญแล้วเห็นว่าการกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นความผิดตามฟ้องและอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในประเด็นอื่นซึ่งไม่มีผลเปลี่ยนแปลงการรับฟังข้อเท็จจริงจนเป็นเหตุให้ศาลอุทธรณ์ภาค 9 ไม่สามารถลงโทษจำเลยที่ 1 และที่ 2 ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นแล้ว ศาลอุทธรณ์ภาค 9 ก็ไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในประเด็นนั้นอีก คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 9 ชอบแล้ว ฎีกาจำเลยที่ 1 และที่ 2 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยที่ 1 และที่ 2 ข้อสุดท้ายมีว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 กระทำความผิดฐานร่วมกันประกอบธุรกิจเงินทุนโดยไม่ได้รับอนุญาตและฐานร่วมกันใช้ชื่อหรือคำแสดงชื่อในธุรกิจทางการเงินหรือไม่ เห็นว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันจัดตั้งกองทุนออมทรัพย์ อ. โดยวิธีการฝากเงิน ซึ่งมี 3 ประเภท คือ 1. ฝากเงินแบบขอรับเงินปันผลกำไร (มูฎอรอบะห์) คือ ฝากร่วมลงทุนทั่วไปมีกำหนดระยะเวลา 3 เดือน หรือ 6 เดือน หรือ 1 ปี หรือ 3 ปี จึงจะขอถอนเงินคืนได้ ต้องเปิดบัญชีครั้งแรก 5,000 บาท 2. ฝากเงินแบบรักษาทรัพย์ (วาดีอะห์) ไม่มีส่วนร่วมเงินปันผล ต้องเปิดบัญชีครั้งแรกขั้นต่ำ 100 บาท 3. ฝากเงินเพื่อฮัจญ์และอุมเราะห์ ต้องเปิดบัญชีครั้งแรก 50,000 บาท โดยกองทุนออมทรัพย์ อ. จะนำเงินของสมาชิกไปลงทุนทำธุรกิจตามโครงการที่โฆษณาไว้ แล้วจะแบ่งปันผลกำไรหรือผลตอบแทนให้แก่สมาชิกที่ฝากเงินลงทุนดังกล่าว ซึ่งการรับฝากเงินดังกล่าวเป็นการประกอบธุรกิจรับฝากเงินตามความหมายคำนิยามคำว่า ธุรกิจเงินทุน ของมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติธุรกิจสถาบันการเงิน พ.ศ.2551 แล้ว เมื่อกองทุนออมทรัพย์ อ. ไม่มีฐานะเป็นนิติบุคคล และไม่ได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีให้ประกอบธุรกิจเงินทุน การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงเป็นความผิดฐานร่วมกันประกอบธุรกิจเงินทุนโดยไม่ได้รับอนุญาต ทั้งองค์ประกอบความผิดของมาตรา 12 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติธุรกิจสถาบันการเงิน พ.ศ.2551 มิได้บัญญัติไว้ว่าผู้กระทำความผิดต้องมีเจตนาทุจริต เพียงแต่บัญญัติห้ามผู้ใดนอกจากสถาบันการเงินใช้ชื่อหรือคำแสดงชื่อในธุรกิจทางการเงินว่า ธนาคาร เงินทุน การเงิน การลงทุน เครดิต ทรัสต์ ไฟแนนซ์ บริษัทเครดิตฟองซิเอร์ หรือคำอื่นใดที่มีความหมายเช่นเดียวกันเท่านั้น เมื่อกองทุนออมทรัพย์ อ. มิใช่สถาบันการเงิน และคำว่า กองทุนออมทรัพย์ เป็นคำอื่นที่มีความหมายเช่นเดียวกับธนาคาร เงินทุน การลงทุน การที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันใช้ชื่อกองทุนออมทรัพย์ อ. จึงเป็นความผิดฐานร่วมกันใช้ชื่อหรือคำแสดงชื่อในธุรกิจทางการเงิน ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 เห็นว่าศาลชั้นต้นวินิจฉัยไว้โดยชอบและถูกต้องแล้วนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาจำเลยที่ 1 และที่ 2 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน

พิพากษายืน

สรุป

แม้การหลอกลวงของจำเลยทั้งสี่ตามฟ้องเป็นเรื่องที่ต้องดำเนินการต่อไป แต่การดำเนินการดังกล่าวได้เริ่มขึ้นแล้วด้วยการที่จำเลยทั้งสี่ร่วมกันแสดงโครงการออกโฆษณาต่อประชาชนอันเป็นความเท็จ ซึ่งเชื่อมโยงกับที่จำเลยทั้งสี่จะดำเนินการต่อไป กรณีถือว่าเป็นการหลอกลวงด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จแล้ว ฟ้องโจทก์จึงครบองค์ประกอบความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงประชาชนชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5)จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันจัดตั้งกองทุนออมทรัพย์ อ. โดยวิธีการฝากเงิน ซึ่งมี 3 ประเภท คือ ฝากเงินแบบขอรับเงินปันผลกำไร (มูฎอรอบะห์) ฝากเงินแบบรักษาทรัพย์ (วาดีอะห์) ไม่มีส่วนร่วมเงินปันผล ฝากเงินเพื่อฮัจญ์และอุมเราะห์ โดยกองทุนออมทรัพย์ อ. จะนำเงินของสมาชิกไปลงทุนทำธุรกิจตามโครงการที่โฆษณาไว้ แล้วจะแบ่งปันผลกำไรหรือผลตอบแทนให้แก่สมาชิกที่ฝากเงินลงทุนดังกล่าว ซึ่งการรับฝากเงินดังกล่าวเป็นการประกอบธุรกิจรับฝากเงินตามความหมายคำนิยามคำว่า ธุรกิจเงินทุน ของมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ.ธุรกิจสถาบันการเงิน พ.ศ.2551 แล้ว เมื่อกองทุนออมทรัพย์ อ. ไม่มีฐานะเป็นนิติบุคคล และไม่ได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีให้ประกอบธุรกิจเงินทุน การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นความผิดฐานร่วมกันประกอบธุรกิจเงินทุนโดยไม่ได้รับอนุญาต ทั้งองค์ประกอบความผิดของมาตรา 12 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.ธุรกิจสถาบันการเงิน พ.ศ.2551 มิได้บัญญัติไว้ว่าผู้กระทำความผิดต้องมีเจตนาทุจริต เพียงแต่บัญญัติห้ามผู้ใดนอกจากสถาบันการเงินใช้ชื่อหรือคำแสดงชื่อในธุรกิจทางการเงินว่า ธนาคาร เงินทุน การเงิน การลงทุน เครดิต ทรัสต์ ไฟแนนซ์ บริษัทเครดิตฟองซิเอร์ หรือคำอื่นใดที่มีความหมายเช่นเดียวกันเท่านั้น เมื่อกองทุนออมทรัพย์ อ. มิใช่สถาบันการเงิน และคำว่า กองทุนออมทรัพย์ เป็นคำอื่นที่มีความหมายเช่นเดียวกับธนาคาร เงินทุน การลงทุน การที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันใช้ชื่อกองทุนออมทรัพย์ อ. จึงเป็นความผิดฐานร่วมกันใช้ชื่อหรือคำแสดงชื่อในธุรกิจทางการเงิน

สำนักงานกฎหมายปรัชญาเศรษฐ์ทนายความ Copyright © 2021. All rights reserved.