ในคดีฉ้อโกงผู้เสียหายได้รับการชดใช้และถอนคำร้องทุกข์ ศาลต้องมีคำสั่งว่าอย่างไร

ในคดีฉ้อโกงผู้เสียหายได้รับการชดใช้และถอนคำร้องทุกข์ ศาลต้องมีคำสั่งว่าอย่างไร

คดีทั้งสองสำนวนนี้ ศาลชั้นต้นพิพากษารวมกัน โดยให้เรียกโจทก์ทั้งสองสำนวนว่า โจทก์ เรียกจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ในสำนวนแรกว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ตามลำดับ และเรียกจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในสำนวนหลังว่า จำเลยที่ 4 และที่ 5 ตามลำดับ

โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองสำนวนขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91, 341, 342 กับให้จำเลยทั้งห้าร่วมกันคืนหรือใช้เงินที่ยังไม่ได้คืน 4,392,500 บาท (ที่ถูก 4,392,000 บาท) แก่ผู้เสียหาย

ระหว่างพิจารณา จำเลยที่ 3 ชำระเงินให้แก่ผู้เสียหาย 300,000 บาท ผู้เสียหายขอถอนคำร้องทุกข์จำเลยที่ 3 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ย่อมระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (2) ให้จำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 3 ออกจากสารบบความ

จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 ให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 5 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 342 (1) ประกอบมาตรา 86 การกระทำของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 5 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 จำคุกจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 5 กระทงละ 2 ปี รวม 18 กระทง เป็นจำคุกคนละ 36 ปี ความผิดฐานสนับสนุนการกระทำความผิดฐานฉ้อโกงโดยแสดงตนเป็นคนอื่น มีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกินสามปีแต่ไม่เกินสิบปี เมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้ว คงให้จำคุกจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 5 คนละ 20 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 (2) และให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 5 ร่วมกันคืนหรือใช้เงินที่ยังไม่ได้คืน 4,079,500 บาท แก่ผู้เสียหาย ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 4

ระหว่างยื่นอุทธรณ์ ผู้เสียหายยื่นคำร้องว่า จำเลยที่ 5 ได้ชำระเงินคืนให้แก่ผู้เสียหาย 100,000 บาท ครบแล้ว ขอถอนคำร้องทุกข์จำเลยที่ 5 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าสิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ย่อมระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (2) ให้จำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 5 ออกจากสารบบความ

โจทก์กับจำเลยที่ 1 และที่ 2 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 4 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 342 (1) ประกอบมาตรา 86 การกระทำของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 เป็นกรรมเดียว จำคุกคนละ 2 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ร่วมกันคืนหรือใช้เงินที่ยังไม่ได้คืน 3,979,500 บาทแก่ผู้เสียหาย

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า การกระทำของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกันหรือไม่ โดยโจทก์ฎีกาว่า โจทก์บรรยายฟ้องระบุวันเวลากระทำความผิดและจำนวนเงินที่ผู้เสียหายโอนให้แก่จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 กับพวกแต่ละครั้งตามคำหลอกลวง และผู้เสียหายเบิกความเป็นพยานโจทก์ซึ่งมีการแจ้งข้อเท็จจริงในแต่ละครั้งเพิ่มเติมแตกต่างจากข้อเท็จจริงครั้งแรก เมื่อผู้เสียหายโอนเงินให้แก่จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 กับพวกแต่ละครั้งเป็นความผิดสำเร็จทันที จึงเป็นการกระทำความผิดหลายกรรมต่างกัน นั้น เห็นว่า แม้โจทก์บรรยายฟ้องและผู้เสียหายเบิกความแยกการกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 กับพวกมาเป็นหลายกรรมต่างกัน 18 ครั้ง คือ วันที่ 30 มีนาคม 2561 จำนวน 3 ครั้ง วันที่ 31 มีนาคม 2561 จำนวน 3 ครั้ง วันที่ 1 เมษายน 2561 จำนวน 1 ครั้ง วันที่ 3 เมษายน 2561 จำนวน 2 ครั้ง วันที่ 5 เมษายน 2561 จำนวน 1 ครั้ง วันที่ 10 เมษายน 2561 จำนวน 1 ครั้ง วันที่ 16 เมษายน 2561 จำนวน 1 ครั้ง วันที่ 17 เมษายน 2561 จำนวน 1 ครั้ง วันที่ 22 เมษายน 2561 จำนวน 1 ครั้งวันที่ 25 เมษายน 2561 จำนวน 2 ครั้ง วันที่ 27 เมษายน 2561 จำนวน 1 ครั้ง และวันที่ 22 พฤษภาคม 2561 จำนวน 1 ครั้ง ก็ตาม แต่ตามคำฟ้องโจทก์ สาเหตุที่ผู้เสียหายโอนเงินให้แก่จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 กับพวก 18 ครั้ง ดังกล่าวก็เนื่องมาจากจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 กับพวกร่วมกันหลอกลวงผู้เสียหายว่าเป็นเจ้าหน้าที่บริษัทจัดส่งของ มีผู้ส่งของขวัญจากต่างประเทศมาให้ผู้เสียหายเป็นแหวนเพชร 1 วง มูลค่า 1,000,000 ดอลลาร์สหรัฐ และเงินสด 50,000 ดอลลาร์สหรัฐ อันเป็นความเท็จในเรื่องเดียวกัน และข้อเท็จจริงได้ความจากผู้เสียหายเบิกความว่า เมื่อปลายเดือนมีนาคม 2561 นายวิลเลียมเพื่อนผู้เสียหายแจ้งผู้เสียหายว่าจะส่งของขวัญไปให้ผู้เสียหาย ต่อมาตามวันเวลาเกิดเหตุในฟ้อง มีหญิงคนหนึ่งอ้างว่าเป็นพนักงานของบริษัทรับขนของจากสถานทูตอังกฤษ (สหราชอาณาจักร) ประจำประเทศไทย โทรศัพท์ไปหาผู้เสียหายแจ้งว่ามีของส่งจากประเทศอังกฤษ แต่การรับของจะต้องเสียค่าธรรมเนียม ผู้เสียหายจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ (อีเมล) สอบถามนายวิลเลียมซึ่งแจ้งว่าส่งของขวัญให้ผู้เสียหายเป็นแหวนเพชร 1 วง มูลค่า 1,000,000 ดอลลาร์สหรัฐ และเงินสด 50,000 ดอลลาร์สหรัฐ และแนะนำให้ผู้เสียหายชำระค่าธรรมเนียม ผู้เสียหายหลงเชื่อจึงโอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากตามที่หญิงคนดังกล่าวแจ้ง แต่ผู้เสียหายยังคงไม่ได้รับของ จากนั้นได้รับการติดต่อจากหญิงคนเดิมหลายครั้ง ซึ่งทุกครั้งจะมีการขอให้ผู้เสียหายโอนเงินไปให้เพิ่มเติมอ้างว่าเป็นค่าน้ำชา ค่าประกันของสถานทูตอังกฤษประจำประเทศไทย ค่าเช่ารถคุ้มกันและค่ารักษาความปลอดภัยของสินค้าที่จัดส่ง ค่าภาษี ค่าเปลี่ยนชื่อเจ้าของกรรมสิทธิ์ของสินค้าที่จัดส่ง และค่าล้างสารเคมีซึ่งนายวิลเลียมแนะนำให้ผู้เสียหายโอนเงินทุกครั้ง ผู้เสียหายหลงเชื่อจึงโอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากตามที่หญิงคนดังกล่าวแจ้ง แต่ผู้เสียหายไม่ได้รับของแต่อย่างใด โดยในระหว่างเกิดเหตุคดีนี้ผู้เสียหายโอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากของจำเลยทั้งห้ากับพวก รวม 18 ครั้ง เป็นเงิน 4,392,000 บาท ทำให้เห็นได้ว่า การที่ผู้เสียหายโอนเงินให้แก่จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 กับพวกในแต่ละครั้ง เป็นผลสืบเนื่องมาจากจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 กับพวกร่วมกันหลอกลวงผู้เสียหายครั้งแรกว่ามีการส่งของขวัญจากต่างประเทศไปให้ผู้เสียหายเป็นแหวนเพชร 1 วง มูลค่า 1,000,000 ดอลลาร์สหรัฐ และเงินสด 50,000 ดอลลาร์สหรัฐ โดยผู้เสียหายจะต้องโอนเงินชำระค่าธรรมเนียม ค่าน้ำชา ค่ารักษาความปลอดภัยของสินค้าและค่าใช้จ่ายอื่น ๆ เพื่อที่จะได้รับสิ่งของดังกล่าวในวันเวลาต่อเนื่องใกล้เคียงกัน จึงเป็นการกระทำความผิดต่อเนื่องกันด้วยเจตนาอย่างเดียวเพื่อที่จะฉ้อโกงผู้เสียหาย การกระทำของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 จึงเป็นความผิดกรรมเดียว หาใช่เป็นความผิดหลายกรรมต่างกันดังที่โจทก์ฎีกาไม่ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น

อนึ่ง ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ร่วมกันคืนหรือใช้เงินที่ยังไม่ได้คืน 3,979,500 บาท แก่ผู้เสียหายนั้น ข้อเท็จจริงได้ความตามคำเบิกความของผู้เสียหายว่า ผู้เสียหายถูกคนร้ายหลอกลวงฉ้อโกงให้โอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากของจำเลยที่ 1 จำนวน 3 ครั้ง เป็นเงิน 937,500 บาท เข้าบัญชีเงินฝากของจำเลยที่ 2 จำนวน 2 ครั้ง เป็นเงิน 612,500 บาท และเข้าบัญชีเงินฝากของจำเลยที่ 4 จำนวน 5 ครั้ง เป็นเงิน 1,370,000 บาท โดยไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า จำเลยแต่ละคนร่วมรู้เห็นหรือได้รับผลประโยชน์ใด ๆ จากการเปิดบัญชีเงินฝากร่วมกัน กรณีเป็นเรื่องต่างคนต่างทำ จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 จึงไม่ต้องร่วมกันคืนหรือใช้เงินที่ยังไม่ได้คืนแก่ผู้เสียหาย แต่คงต้องรับผิดคืนหรือใช้เงินให้แก่ผู้เสียหายจากผลเฉพาะที่ตนกระทำ ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 215 และมาตรา 225

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 คืนหรือใช้เงินที่ยังไม่ได้คืนแก่ผู้เสียหาย 937,500 บาท ให้จำเลยที่ 2 คืนหรือใช้เงินที่ยังไม่ได้คืนแก่ผู้เสียหาย 612,500 บาท และให้จำเลยที่ 4 คืนหรือใช้เงินที่ยังไม่ได้คืนแก่ผู้เสียหาย 1,370,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

สำนักงานกฎหมายปรัชญาเศรษฐ์ทนายความ Copyright © 2021. All rights reserved.