ใส่ความโจทก์ร่วมโดยมุ่งประสงค์ ให้โจทก์ร่วมเสียชื่อเสียง ฟ้องคดีได้หรือไม่

ใส่ความโจทก์ร่วมโดยมุ่งประสงค์ ให้โจทก์ร่วมเสียชื่อเสียง ฟ้องคดีได้หรือไม่

โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91, 264, 265, 268, 326, 328, 332

จำเลยให้การปฏิเสธ

ระหว่างพิจารณา นางพัชรี ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 265 ประกอบมาตรา 83, 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 265, 328 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานร่วมกันปลอมเอกสารสิทธิและใช้เอกสารสิทธิปลอม เนื่องจากจำเลยเป็นผู้ปลอมและใช้เอกสารสิทธิปลอม จึงต้องลงโทษฐานใช้เอกสารสิทธิปลอมแต่กระทงเดียว ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 วรรคสอง จำคุก 2 ปี ฐานหมิ่นประมาทผู้อื่นโดยการโฆษณา จำคุก 2 เดือน รวมจำคุก 2 ปี 2 เดือน คำขออื่นให้ยก

โจทก์ร่วมและจำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์และโจทก์ร่วม

โจทก์และโจทก์ร่วมฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า โจทก์ร่วมเป็นผู้แทนจำหน่ายสลากแบบเลขท้าย 3 ตัว และ 2 ตัว จำเลยนำสลากแบบเลขท้าย 3 ตัว และ 2 ตัว งวดวันที่ 1 พฤศจิกายน 2547 ชุดที่ 32 เลขที่ 284300 ถึง 284326 ชนิดราคา 100 บาท และชุดที่ 52 เลขที่ 812700 ถึง 812734 และ 812736 ถึง 812769 ชนิดราคา 20 บาท รวมทั้งหมด 96 ฉบับ ระบุตัวเลข 966 ในช่องเลขท้าย 3 ตัว ซึ่งเป็นเลขท้าย 3 ตัวตรงรางวัลที่ 1 ของสลากกินแบ่งรัฐบาล ไปยื่นต่อสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลเพื่อขอรับเงินรางวัล และสลากพิพาทเป็นส่วนหนึ่งของสลากแบบเลขท้าย 3 ตัว และ 2 ตัว ที่โจทก์ร่วมรับจากสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล มาจำหน่ายให้แก่ลูกค้าและในการที่โจทก์ร่วมรับสลากมาจากสำนักงานสลากมีหลักปฏิบัติว่า ผู้เป็นตัวแทนจำหน่ายจะมีรหัสตัวแทนจำหน่ายและในการซื้อสลากแบบเลขท้าย 3 ตัว และ 2 ตัว ตัวแทนจำหน่ายจะโอนเงินให้สำนักงานสลากภายในวันที่ 3 และ 18 ของเดือน หลังจากนั้นสำนักงานสลากจะส่งสลากแบบเลขท้าย 3 ตัว และ 2 ตัว ไปทางไปรษณีย์ เมื่อแสดงบัตรผู้แทนจำหน่ายจึงรับสลากแบบเลขท้าย 3 ตัว และ 2 ตัว ไปจำหน่ายได้และเมื่อจำหน่ายสลาก จะนำข้อมูลต้นขั้วสลากที่จำหน่ายไปทั้งหมดลงในแผ่นดิสก์ส่งไปยังไปรษณีย์ ไปรษณีย์จะส่งข้อมูลในแผ่นดิสก์ไปยังสำนักงานสลากก่อน 3 นาฬิกาของวันออกสลาก เมื่อสลากออกรางวัลแล้วผู้แทนจำหน่ายและสำนักงานสลากจะตรวจสอบข้อมูลว่ามีสลากชนิดใดถูกรางวัล หากข้อมูลตรงกัน ก็จะจ่ายเงินให้ผู้ซื้อไป โดยจะวินิจฉัยเสียก่อนว่าสลากพิพาทเป็นสลากแบบเลขท้าย 3 ตัว และ 2 ตัว ที่โจทก์ร่วมได้จำหน่ายให้แก่นายจำเริญหรือไม่ เห็นว่า นายจำเริญเป็นลูกค้าประจำของโจทก์ร่วมที่ซื้อสลากแบบเลขท้าย 3 ตัว และ 2 ตัว จากโจทก์ร่วมเป็นยอดเงินจำนวนมากครั้งละ 10,000 บาท ถึง 50,000 บาท และเป็นลูกค้าประจำรายเดียวที่ซื้อสลากแบบเลขท้าย 3 ตัว และ 2 ตัว จากโจทก์ร่วมทางโทรศัพท์เคลื่อนที่ก่อนวันออกสลาก 1 วัน ย่อมเป็นจุดสนใจให้โจทก์ร่วมจำได้ว่าผู้ที่ซื้อสลากพิพาทจากโจทก์ร่วมคือ นายจำเริญ นอกจากนี้โจทก์ร่วมยังได้ทำบันทึกลูกค้าประจำที่ซื้อสลากแบบเลขท้าย 3 ตัว และ 2 ตัว ยกเล่มลงในสมุดคุมการขายสลาก ซึ่งปรากฏมีรายชื่อของลูกค้าที่ซื้อสลากยกเล่มว่า เถิน, จำเริญ และโจทก์ร่วมยังมีตารางแสดงจำนวนสลากแบบเลขท้าย 3 ตัว และ 2 ตัว ที่โจทก์ร่วมขายให้แก่นายจำเริญ ซึ่งได้ระบุเลขที่เล่มและเลขที่สลากที่นายจำเริญซื้อชัดเจน ถึงแม้จะเป็นเอกสารของโจทก์ร่วม แต่ก็เป็นการที่โจทก์ร่วมจัดทำเอกสารขึ้นตามปกติเพื่อใช้ในการควบคุมการขายสลากแบบเลขท้าย 3 ตัว และ 2 ตัว ที่ร้านของโจทก์ร่วมจึงไม่มีข้อพิรุธว่า เป็นเอกสารที่โจทก์ร่วมทำขึ้นไม่ตรงกับความเป็นจริงเพื่อปรักปรำจำเลย จึงนำเอกสารดังกล่าวมารับฟังประกอบคำเบิกความของโจทก์ร่วมได้ เมื่อจำเลยไม่นำสืบหักล้างให้เห็นเป็นอย่างอื่น จึงฟังได้ว่านายจำเริญซื้อสลากพิพาทจากโจทก์ร่วมจริง

มีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์และโจทก์ร่วมว่า จำเลยกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาทโจทก์ร่วมโดยการโฆษณาด้วยเอกสารตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่า การที่หนังสือพิมพ์ดังกล่าวไปลงข่าวว่า จำเลยซื้อสลากถูกรางวัลแล้วถูกโจทก์ร่วมโกง 2,000,000 บาท ทั้งยังมีภาพจำเลยให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ในหน้าหนังสือพิมพ์ดังกล่าวด้วย ซึ่งตามคำเบิกความของจำเลยก็ยอมรับว่า หลังจากจำเลยไม่ได้เงินจากโจทก์ร่วม มีผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ของหนังสือพิมพ์ดังกล่าวมาสอบถามจำเลย จำเลยได้ให้สัมภาษณ์ต่อผู้สื่อข่าวไป ดังนี้ การที่จำเลยไปให้ข่าวและหนังสือพิมพ์ดังกล่าวได้ลงข่าวแพร่หลายทั่วจังหวัดลำปางว่า จำเลยซื้อสลากเลขท้าย 3 ตัวตรงหมายเลข 966 ประจำงวดวันที่ 1 พฤศจิกายน 2547 แล้วถูกรางวัล โจทก์ร่วมไม่ยอมจ่ายเงินรางวัลให้แก่จำเลย ซึ่งไม่เป็นความจริง ถือเป็นการใส่ความโจทก์ร่วมโดยมุ่งประสงค์ให้โจทก์ร่วมเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชังและการที่จำเลยให้สัมภาษณ์ต่อผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ จำเลยย่อมทราบดีว่าผู้รับข้อความคือ ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์เป็นผู้ประกอบวิชาชีพสื่อสารมวลชน อาจนำเสนอข่าวสารที่ได้รับมาเผยแพร่ต่อบุคคลทั่วไป หาใช่การให้สัมภาษณ์ต่อบุคคลทั่ว ๆ ไปไม่ ทั้งข้อความที่จำเลยให้สัมภาษณ์เป็นเรื่องเกี่ยวกับการถูกเงินรางวัลแต่ไม่ได้รับเงินรางวัลอันเป็นความหวังของบุคคลทั่วไปที่ซื้อสลาก ซึ่งมีลักษณะเป็นเรื่องที่สนใจของประชาชน ถือว่าจำเลยมีเจตนาเล็งเห็นผลได้ว่าผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ต้องนำข้อความที่จำเลยให้สัมภาษณ์ไปลงพิมพ์โฆษณาในหนังสือพิมพ์ตามที่จำเลยให้สัมภาษณ์ เมื่อหนังสือพิมพ์นำข้อความที่ให้สัมภาษณ์ไปลงพิมพ์โฆษณาสมตามเจตนาของจำเลยแล้ว การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณาด้วยเอกสารตามฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วยบางส่วน ฎีกาของโจทก์และโจทก์ร่วมฟังขึ้นบางส่วน

พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 265 และมาตรา 328 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานใช้เอกสารสิทธิปลอม จำคุก 2 ปี ฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา จำคุก 2 เดือน รวมจำคุกจำเลย 2 ปี 2 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5

สรุป

การที่จำเลยไปให้ข่าวและหนังสือพิมพ์ได้ลงข่าวแพร่หลายทั่วจังหวัดลำปางว่า จำเลยซื้อสลากเลขท้าย 3 ตัวตรงหมายเลข 966 ประจำงวดวันที่ 1 พฤศจิกายน 2547 แล้วถูกรางวัล โจทก์ร่วมไม่ยอมจ่ายเงินรางวัลให้แก่จำเลย ซึ่งไม่เป็นความจริง ถือเป็นการใส่ความโจทก์ร่วมโดยมุ่งประสงค์ให้โจทก์ร่วมเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชัง และการที่จำเลยให้สัมภาษณ์ต่อผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ จำเลยย่อมทราบดีว่าผู้รับข้อความคือผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์เป็นผู้ประกอบวิชาชีพสื่อสารมวลชน อาจนำเสนอข่าวสารที่ได้รับมาเผยแพร่ต่อบุคคลทั่วไป ทั้งข้อความที่จำเลยให้สัมภาษณ์เป็นเรื่องเกี่ยวกับการถูกเงินรางวัลแต่ไม่ได้รับเงินรางวัลอันเป็นความหวังของบุคคลทั่วไปที่ซื้อสลาก ซึ่งมีลักษณะเป็นเรื่องที่สนใจของประชาชน ถือว่าจำเลยมีเจตนาเล็งเห็นผลได้ว่าผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ต้องนำข้อความที่จำเลยให้สัมภาษณ์ไปลงพิมพ์โฆษณาในหนังสือพิมพ์ตามที่จำเลยให้สัมภาษณ์ เมื่อหนังสือพิมพ์นำข้อความที่ให้สัมภาษณ์ไปลงพิมพ์โฆษณาสมตามเจตนาของจำเลยแล้ว การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณาตาม ป.อ. มาตรา 328

สำนักงานกฎหมายปรัชญาเศรษฐ์ทนายความ Copyright © 2021. All rights reserved.